เว็บไซต์ dentalcouncil.or.th มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์


การใช้งาน Cookie ของ dentalcouncil.or.th

  • เพื่อช่วยจดจำข้อมูลเกี่ยวกับเบราว์เซอร์และการตั้งค่าของท่าน และช่วยให้ท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้บริการ
  • เพื่อช่วยประเมินประสิทธิภาพและผลการให้บริการเว็บไซต์ที่ยังทำงานได้ไม่ดีและควรปรับปรุง
  • เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการเข้าเยี่ยมชมและใช้บริการเว็บไซต์

  • การใช้งานเว็บไซต์
    Cookie ทีมีความจำเป็น เพื่อประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์
    จำเป็น

ข่าวประชาสัมพันธ์

เสียงจากพื้นที่ถึงนโยบาย Dental Hub Phuket Sandbox หรือ Sand castle?

เสียงจากพื้นที่ถึงนโยบาย Dental Hub
Phuket Sandbox หรือ Sand castle?


     เมื่อปี 2565 เกิดกระแสเป็นที่ฮือฮาในวงการทันตกรรมว่าภาครัฐมุ่งพัฒนาไทยเป็น Dental Hub ของภูมิภาค มีการประชุมวางแผน ประสานงานกับคลินิกเอกชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ผลักดัน “Phuket Sandbox” เป็นโครงการนำร่องทดลอง วันนี้ผ่านมาราว 1 ปี ทีมข่าวทันตแพทยสภา พาทุกท่านไปสำรวจเหตุการณ์ในพื้นที่ผ่านความเห็นของคลินิกทันตกรรมและโรงเรียนทันตแพทย์ในพื้นที่ว่าเดินทางใกล้ถึงความฝันหรือไม่อย่างไร Sandbox ยังคงดำเนินการอยู่ หรือ เป็น Sand Castle ที่รอคลื่นทะเลอันดามันซัดหายไป..  


การเปลี่ยนแปลงที่คลินิกในพื้นที่รับรู้

     การดำเนินนโยบาย Phuket Sandbox เรื่อง Dental Hub ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความตื่นตัวของผู้ประกอบการคลินิกทันตกรรมในจังหวัดภูเก็ต มีการปรับปรุงสถานที่ พัฒนาระบบการบริการ จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ อีกทั้งยังได้รับแรงเสริมจากการผลักดันโครงการอื่นๆ ของภาครัฐและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวนานาชาติ หลั่งไหลเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีคลินิกทันตกรรมทยอยเปิดให้บริการเพิ่มจำนวนมาก ตอบรับต่อความต้องการรักษาทางทันตกรรมในจังหวัดที่เพิ่มมากขึ้น


     ทพญ.อภิญญา กุลวีระอารีย์ สะท้อนเสียงจากบทบาทของคนในพื้นที่ที่มีส่วนร่วมดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ ทั้งนี้ การยกระดับคลินิกทันตกรรมเพื่อรองรับ Dental Hub ยังคงมีอุปสรรคในบางด้านที่เกี่ยวเนื่องกับความพร้อมในด้านศักยภาพการดูแลผู้รับการรักษากลุ่มนักท่องเที่ยวนานาชาติ เช่น

  • การสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ เช่น ภาษารัสเซีย เพื่อสื่อสารให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดการรักษาก่อนที่จะตัดสินใจรับการรักษา ทั้งในด้านข้อจำกัดของสภาพฟัน ทางเลือกในการรักษา หรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากสภาพฟันแต่ละซี่

  • ระยะเวลาที่อาจจะเป็นข้อจำกัดต่อการรักษาในบางกรณี เช่น ความพร้อมของการผลิตชิ้นงานทันตกรรมในจังหวัดที่มีจำนวนมากขึ้น

  • การขาดแคลนทันตบุคลากรสายสนับสนุนที่มีบทบาทสำคัญ เช่น ช่างทันตกรรม ผู้ช่วยทันตแพทย์ เจ้าหน้าที่ดูแลผู้รับการรักษาที่มีทักษะภาษาต่างประเทศที่ครอบคลุมได้หลายภาษา

  • การให้การดูแลผู้รับการรักษาที่รวมไปถึงประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความซับซ้อนต่อการรักษาทางทันตกรรม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีประวัติโรคประจำตัวหรือมีปัญหาสุขภาพหลายด้าน

หากสภาวิชาชีพหรือหน่วยงานภาครัฐ ให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการยกระดับการบริการทันตกรรมในจังหวัดภูเก็ตให้สอดคล้องกับขับเคลื่อนนโยบาย Dental Hub ในด้านต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้การบริการทางทันตกรรมเกิดประโยชน์ต่อทั้งประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวนานาชาติ อาทิเช่น

  • การเพิ่มอัตราการผลิตบุคลากรสายสนับสนุนที่มีความเชี่ยวชาญในสายวิชาชีพทันตกรรม เช่น ช่างทันตกรรม ผู้ช่วยทันตแพทย์ โดยเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นและอาจมีการขึ้นทะเบียนวิชาชีพ จัดให้มีการอบรมเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอย่างต่อเนื่องทั้งกลุ่มบุคลากรที่มีอยู่เดิมและบุคลากรที่ผลิตใหม่

  • การเปิดศูนย์ล่ามนานาชาติในจังหวัดภูเก็ต ในรูปแบบ Tele-conference มีล่ามหลากหลายภาษา ที่สถานพยาบาลสามารถติดต่อใช้บริการแปลภาษาได้ทันที และสามารถบันทึกข้อมูลการสื่อสารจัดเก็บเป็น Electronic file ในระบบเวชระเบียนได้ เพื่อสร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และความปลอดภัยต่อทั้งผู้ให้และผู้รับการรักษา

  • ระบบการส่งต่อสำหรับกลุ่มผู้รับการรักษาที่มีความซับซ้อนในการรักษา ที่สามารถประสานงานและดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

     ทพญ.อภิญญา กุลวีระอารีย์ ได้สะท้อนความก้าวหน้า สภาพปัญหาที่คลินิกเอกชนในพื้นที่ Phuket Sandbox ได้เจอ รวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบายที่ต้องการการสนับสนุนจากวิชาชีพ และภาครัฐเพิ่มเติม เพื่อให้ Phuket sandbox เดินทางผ่านระยะตั้งไข่นี้ไปได้ ก่อนที่จะมีถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ของประเทศเป็นศูนย์กลางการรักษาด้านทันตกรรมนานาชาติต่อไป



ความหวังที่ไว้ใจได้..อยู่ในมือวิชาชีพ

     หลังจากรับฟังเสียงและปัญหาจากคลินิกทันตกรรม ทีมงานจึงติดต่อขอสัมภาษณ์ “พี่ใหญ่ด้านงานทันตกรรม” ที่ตอบสนองต่อปัญหาด้านทันตสาธารณสุขของพื้นที่ภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ศ.ดร.ทพญ.ชิดชนก ลีธนะกุล คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยว่า

  

  “ในฐานะโรงเรียนทันตแพทย์ในพื้นที่ คณะพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือทางวิชาการในการขับเคลื่อนนโยบาย Dental Hub ซึ่งได้หารือเบื้องต้น เช่น การผลิตผู้ช่วยทันตแพทย์ป้อนสู่ตลาดบริการ การประสานที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ล่ามด้านงานทันตกรรม เพื่อไม่ให้ปัญหาด้านภาษากลายเป็นอุปสรรคในการให้บริการของคลินิกในพื้นที่ Dental Hub จุดยืนของคณะต่อการเข้าไปตั้งศูนย์ทันตกรรมดิจิทัล วิทยาเขตภูเก็ต จึงไม่ใช่การเปิดตลาดแข่งขันกับคลินิกทันตกรรมในพื้นที่ แต่เข้าไปเป็นหน่วยสนับสนุนทั้งด้านวิชาการ ระบบข้อมูล ระบบการพัฒนาคนเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบาย นอกจากนี้ คณะยังตั้งใจจะเป็นฐานทางวิชาการให้การสนับสนุนเรื่องซอฟท์แวร์จัดการข้อมูลบริการทันตกรรม และพัฒนามาตรฐานและการรับรองคลินิกทันตกรรมในโครงการ Dental Hub ของไทยเอง

ศ.ดร.ทพญ.ชิดชนก ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง มีแผนจะดำเนินการด้าน Medical Tourism มาก่อนหน้านี้เนื่องจากเราได้เล็งเห็นว่าเรื่องการท่องเที่ยวและธุรกิจด้าน Wellness เป็นจุดแข็งของพื้นที่ภาคใต้ หากเราส่งเสริมด้านนี้จะช่วยสร้างงานและรายได้จำนวนมากให้แก่ประเทศ จึงมีแผนจะจัดทำ “ศูนย์ความเชี่ยวชาญด้าน Digital Dentistry” ภายใต้แผนการจัดตั้งวิทยาลัยสุขภาพนานาชาติขึ้นในพื้นที่ภูเก็ต ในปี 2567 เราตั้งใจให้ศูนย์นี้เป็นศูนย์การรักษาด้านทันตกรรมดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคให้บริการแก่ชาวต่างชาติ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ (Special care) สำหรับกลุ่มเปราะบาง (พิการ สูงอายุ) ศูนย์นี้ดำเนินการในรูปแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise) นอกจากนี้ศูนย์ดังกล่าวยังจะเป็นศูนย์การศึกษาหลังปริญญา Short Course Training หรือ Modular course ที่รองรับ Lifestyle การทำงานของทันตแพทย์รุ่นใหม่ ไม่ต้องเรียนเต็มเวลา แต่ทยอยมาเก็บหน่วยกิตใน Credit Bank เมื่อครบก็สามารถขอเทียบคุณวุฒิได้ ยกตัวอย่างที่ อนุสาขาทันตกรรมจัดฟัน ของคณะฯจะเปิดสอนจัดฟันแบบ Modular course ในปี 2566 นี้แล้ว โดยทันตแพทย์ที่สนใจมาเรียน coursework ที่ มอ. (สงขลา) แล้วฝึกปฏิบัติในผู้ป่วย 20-25 เคส ในหน่วยฝึกส่วนภูมิภาคที่คณะประสานไว้ได้แล้ว

อย่างไรก็ดี ภายหลังการประชุม APEC เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา กระแสการผลักดันนโยบายด้าน Dental Hub ลดลงอย่างชัดเจน “ครึ่งปีหลังมานี้ ทิศทางและความเข้มข้นนโยบายด้าน Dental Hub ที่มาจากภาครัฐลดลงมากจนอาจทำให้โครงการนี้หายไป อาจารย์มองว่าวิชาชีพทันตกรรมจะรอพึ่งภาครัฐอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะรักษาโอกาสที่เกิดขึ้นนี้ไว้ได้ องค์กรวิชาชีพเราจึงควรจะผนึกกำลังร่วมกำหนดทิศทาง แบ่งปันความรู้ ทรัพยากร และหน้าที่กันเพื่อทำให้ Dental Hub เกิดขึ้นและอยู่ได้จริงอย่างยั่งยืน ขออาศัยพื้นที่ข่าวนี้ ส่งเสียงเชิญชวนองค์กรวิชาชีพ ทันตแพทยสภาและทันตแพทยสมาคม และภาคีคลินิกเอกชน มาร่วมกันผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง”

จากความเห็นของคลินิกภาคเอกชน และภาคส่วนการศึกษา ทำให้เราได้เห็นถึงความตั้งใจดีของหลายฝ่าย ในขณะเดียวกันก็อาจรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อเห็น “ช่องว่างของโอกาส” หลายประเด็นที่ยังรอการเติมเต็มของผู้เล่นอีกหลายภาคส่วน ท้ายที่สุดแล้ว..ประเทศไทยจะผลักดันธุรกิจทันตกรรมให้เป็น Magnet ตัวสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้ ในขณะที่ยังสามารถดูแลสุขภาพช่องปาก การเข้าถึงบริการ การคุ้มครองทางการเงินให้แก่ประชาชนไปพร้อมๆกันหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้ ยังคงรอพวกเรากำหนด “ผลลัพธ์” ด้วยกันต่อไป..




ทีมประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ทันตแพทยสภา

ขอขอบคุณ ศ.ดร.ทพญ.ชิดชนก ลีธนะกุล

ทพญ.อภิญญา กุลวีระอารีย์


หัวข้ออื่น ๆ :