สำหรับผู้ต่ออายุใบอนุญาต

ขั้นตอนการต่ออายุใบอนุญาต

นับถึงปลายเดือนมีนาคม 2566 ทันตแพทย์เลขที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ท. 15369 - เลข ท.ปัจจุบัน หรือได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 มีหน้าที่ต้องต่ออายุใบอนุญาต และจะทยอยหมดอายุตามลำดับ โดยการต่ออายุใบอนุญาตสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ก่อนวันหมดอายุ 180 วัน โดยการต่ออายุใบอนุญาต สามารถดำเนินการได้ดังขั้นตอนต่อไปนี้

1. กรอกคำขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม (ทันตแพทยสภารับคำขอต่ออายุใบอนุญาตฯ ผ่านช่องทางนี้เท่านั้น)  (คลิกที่นี่)

2. ค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต ฉบับละ 2,000 บาท สามารถทำการชำระเงินได้ในระบบ รายละเอียดคลิกที่นี่

3. ในกรณีที่ต้องการให้ส่งไปรณีย์แบบ EMS มีค่าส่งไปรษณีย์ในอัตราเหมาจ่าย 70 บาท โดยสามารถชำระได้ในระบบพร้อมกับค่าธรรมเนียม

4. ท่านควรได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมฉบับใหม่ ในรูปแบบกระดาษและในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-certificate) ในระบบ ภายใน 120 วัน หลังส่งเอกสารผ่านระบบ (หากไม่ได้รับเอกสารกรุณาติดต่อ คุณเตือนใจ แสงอ่อน(งานทะเบียน) โทร. 02-5807500-3 กด 1 Fax. 02-5807504

ที่มาและเป้าหมายของการต่ออายุใบอนุญาต

ในการมีอยู่ของวิชาชีพทันตกรรม หมุดหมายสำคัญประการหนึ่งคือเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทันตกรรมที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง โดยฐานะทางการเงินมิเป็นอุปสรรคในการรับบริการทางทันตกรรม ในประเด็นด้านคุณภาพบริการ หมายถึงการที่ประชาชนได้รับการรักษาด้วยความรู้ที่เป็นปัจจุบัน มีโอกาสที่จะได้รับทางเลือกการรักษาที่ดี ดังนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติจึงได้ตรากฎหมาย
พรบ.วิชาชีพทันตกรรม ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๙ ขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมพัฒนาความรู้ความสามารถ และติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง โดยการกําหนดอายุใบอนุญาตและวางเงื่อนไขการต่ออายุใบอนุญาตให้เกี่ยวข้องกับการศึกษาต่อเนื่อง ด้วยสารัตถะแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ทันตแพทย์ที่จบการศึกษาหลัง 12 พฤศจิกายน 2559 จึงมีความจำเป็นต้องต่ออายุใบอนุญาตทุก 5 ปี เมื่อได้ทำกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องมาตามเกณฑ์ที่ข้อบังคับทันตแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเข้าร่วมการศึกษาต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๐ ส่วนทันตแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาก่อนห้วงเวลาข้างต้น ให้ใบอนุญาตมีอายุต่อไป แต่จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง

สถานการณ์การต่ออายุใบอนุญาตในเชิงภาพระบบ

นับจากวันที่ พรบ. และ ข้อบังคับทันตแพทยสภามีผลบังคับใช้ ปัจจุบันมีทันตแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตฯ ชนิดที่มีกำหนดหมดอายุแล้วทั้งสิ้น 4,938 คน ในจำนวนนี้รวมจำนวนผู้ที่ต้องต่ออายุใบอนุญาตฯ คนแรกจนถึงผู้ที่ครบกำหนดต้องต่ออายุใบอนุญาตฯ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 ได้รับการต่ออายุใบอนุญาตแล้วทั้งหมดทุกคน รวม 1,131 คน หากนับล่วงหน้าถึงเดือน กันยายน 2566 มีผู้ที่ถึงเกณฑ์ต่ออายุใบอนุญาต มีจำนวนทั้งสิ้น 1,546 คน แบ่งเป็น
    - ได้รับการต่ออายุใบอนุญาตแล้วเสร็จ 1,131 ราย
    - ยื่นเอกสารขอต่ออายุใบอนุญาตแล้ว แต่ยังรอการอนุมัติจากกรรมการทันตแพทยสภา 107 ราย
    - ถึงเกณฑ์ต้องขอต่ออายุใบอนุญาตแล้ว แต่ยังมิได้ยื่นเอกสารมายังสำนักงานเลขาธิการทันตแพทยสภา 308 ราย

ผลกระทบในกรณีที่มิได้ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาต

ผู้ประกอบวิชาชีพที่ถึงเกณฑ์ต่ออายุใบอนุญาต ควรเก็บคะแนนการศึกษาต่อเนื่องให้ครบ 100 คะแนนก่อนวันหมดอายุใบอนุญาต และยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตมายังทันตแพทยสภา ซึ่งข้อบังคับทันตแพทยสภาเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคะแนนกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องครบถ้วน สามารถยื่นหลักฐานเพื่อขอต่ออายุใบอนุญาตล่วงหน้าก่อนวันที่ใบอนุญาตฉบับเดิมจะหมดอายุได้ถึง 180 วัน อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบวิชาชีพไม่ได้ต่ออายุใบอนุญาตทันกำหนดเวลาจะมีผล ดังนี้

    - เฉพาะผู้ที่ได้รับใบอนุญาต หลัง 12 พ.ย. 59 ย่อมไม่สามารถประกอบวิชาชีพทันตกรรมได้ รวมถึงสิทธิอื่นใดที่ผูกพันกับใบอนุญาตฯ ย่อมหมดไปด้วย เช่น การเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาล การเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐตำแหน่งทันตแพทย์ ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวกำหนดคุณสมบัติให้ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วย

    - ส่วนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตก่อน 12 พ.ย. 59 นั้น พระราชบัญญัติกำหนดให้ใช้ใบอนุญาตฯ ได้ต่อไป จึงไม่หมดอายุ และไม่ต้องดำเนินการต่ออายุ โดย พรบ.วิชาชีพทันตกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. ๒๕๕๙) กำหนดเพียงให้เข้าร่วมการศึกษาต่อเนื่อง โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขสภาพบังคับอื่นประกอบแต่อย่างใด

    - เมื่อใบอนุญาตของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมที่มีอายุเกิดหมดอายุลง บุคคลผู้นั้นย่อมไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพฯ อีกต่อไป หากยังคงประกอบวิชาชีพ ย่อมมีความผิดตามกฎหมายเสมือนผู้ที่ไม่ใช่ทันตแพทย์ ทั้งนี้อำนาจการจับกุมและลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตฯ เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ มิใช่ทันตแพทยสภาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี เพื่อให้การประกอบวิชาชีพและการพัฒนาตนเองเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทันตแพทย์ควรศึกษาวิทยาการความรู้ใหม่อยู่เสมอ ทันตแพทยสภาจะช่วยอำนวยความสะดวกในการติดตามทันตแพทย์ที่ถึงเกณฑ์ต่ออายุใบอนุญาต แต่ยังไม่ได้ยื่นเอกสาร โดยการแจ้งเตือนผ่านข้อความในโทรศัพท์มือถือ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ การโทรศัพท์ และสื่อสารมวลชน เพื่อให้มั่นใจว่าทันตแพทย์ไทยทุกคนสามารถพัฒนาตนเอง ประกอบวิชาชีพได้อย่างราบรื่นและดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด

ข้อมูลจากการประชุมคณะกรรมการทันตแพทยสภา ครั้งที่ 3/2566 วันที่ 16 มีนาคม 2566