ครม. คลอดแล้ว อนุมัติกฎกระทรวง กำหนดค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตฯ หมอฟัน ลดลงไปกว่าครึ่ง เพื่อนำไปพัฒนาระบบต่างๆของสมาชิก
ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 ได้มีมติอนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้นำเสนอ โดยมีเนื้อหาเป็นร่างที่กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม สำหรับผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นทันตแพทย์หลังวันที่ 12 พ.ย. 2559 เป็นยอดเงิน 2,000 บาท/ครั้ง หรือ ทุกๆ 5 ปี (เทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของอัตราท้ายพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ การกำหนดค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้ทันตแพทยสภาสามารถปรับปรุงระบบบริการต่างๆให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งทันตแพทย์ไทยและประชาชนผู้รับบริการ ตรงตามเจตนารมณ์ของตัวบทกฎหมาย พรบ.วิชาชีพทันตกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559
รูป 1 อุปนายกทันตแพทยภาให้ข้อมูลแก่ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ ก่อนเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรี
ทพ.สมยศ ณ ลำเลียง เลขาธิการทันตแพทยสภา ให้ข้อมูลว่า “ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ได้ผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายขั้นตอน โดยเอกสารการประชุมของ ครม. ที่ระบุถึงความเห็นส่วนราชการและการตรวจสอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่อาจสรุปเป็นเหตุผลได้ 3 ประเด็น โดยประเด็นแรก การเก็บและวัตถุประสงค์การเก็บค่าธรรมเนียมมีเหตุผลเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสมาชิก และคุ้มครองประชาชน ประเด็นที่สอง ยอดค่าธรรมเนียม 2,000 บาทต่อ 5 ปี เป็นยอดที่เหมาะสมกับสภาพการณ์เศรษฐกิจและคำนึงถึงประโยชน์สมาชิกเป็นสำคัญ ดังที่มีความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า ในรอบระยะเวลา 5 ปี ถือว่าผู้ประกอบวิชาชีพมีศักยภาพและอยู่ในวิสัยที่สามารถชำระได้และไม่ถือเป็นการสร้างภาระแต่อย่างใด และประเด็นสุดท้าย ยอดค่าธรรมเนียมดังกล่าวผ่านการรับฟังความเห็นจากสมาชิกและได้รับความเห็นชอบจากกรรมการทันตแพทยสภาแล้ว และมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
รูป 2 คณะผู้เข้าให้ข้อมูลจากทันตแพทยสภา เข้าพบคุณปวีณ์ริศา สกุลเกียรติศรุต หัวหน้ากลุ่มงานสนับสนุนวิชาการ สำนักงานรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ทันตแพทยสภาตระหนักถึงภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับสมาชิก จึงตั้งเจตนาที่จะบริหารจัดการงบประมาณที่ได้มาให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อการพัฒนางานทันตแพทยสภาใน 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่
1. การพัฒนาและปรับปรุงฐานข้อมูลสมาชิกให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน
2. การจัดการศึกษาต่อเนื่อง ผ่านการสร้างบทเรียนออนไลน์โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่
3. เป็นค่าใช้จ่ายด้านการประสานงานและธุรการภายในวิชาชีพ เช่น การต่ออายุใบอนุญาต
4. เป็นค่าใช้จ่ายการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายนอกวิชาชีพ เพื่อการประกอบวิชาชีพ เช่น การออกใบอนุญาตสถานพยาบาล การรับรองสิทธิ และการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ตลอดจนการจัดทำข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่ออำนวยสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ทันตแพทย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีใบอนุญาตซึ่งมีกำหนดหมดอายุ
การลงทุนในทั้ง 4 ส่วนนี้ จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบงานต่างๆของทันตแพทยสภาได้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และเกิดประโยชน์ต่อสมาชิกและประชาชนให้มากที่สุด อาทิเช่น
เกิดการพัฒนาระบบการศึกษาต่อเนื่องที่มีคุณภาพ เกิดระบบฐานข้อมูลทันตแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในตรวจสอบได้ว่าตนได้รับการรักษาจากทันตแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตจริง มีความรู้ ความสามารถ ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้การทำธุรกรรมภายนอกวิชาชีพที่ต้องการการยืนยันสถานะสมาชิกเป็นไปได้โดยสะดวก เป็นประโยชน์ต่อทันตแพทย์มากยิ่งขึ้น”
ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ แก้วสุทธา อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 2 ที่กำกับนโยบายทางด้านการศึกษาของทันตแพทยสภา และประธานศูนย์การศึกษาต่อเนื่องของทันตแพทย์ หรือ CDEC ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า
“ค่าธรรมเนียมจากการต่อใบอนุญาตดังกล่าว ส่วนหนึ่งจะนำไปพัฒนาและปรับปรุงระบบการศึกษาต่อเนื่องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก ที่ผ่านมา การพัฒนาระบบการศึกษาต่อเนื่องยังทำได้ไม่เต็มที่ รายได้หลักที่ผ่านมาเกิดจากค่าธรรมเนียมการบันทึกคะแนน CE ที่สมาชิกยื่นขอกรณีพิเศษมาเป็นครั้ง ๆ หรือเกิดจากการขึ้นทะเบียนหน่วยการศึกษาต่อเนื่อง (CE provider) ซึ่งไม่เพียงพอจะพัฒนาระบบต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกและ CE Provider ให้มีประสิทธิภาพ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี”
ในช่วงท้าย ทพ.สมยศ ณ ลำเลียง เลขาธิการทันตแพทยสภา ให้ข้อมูลว่า “ทันตแพทยสภาตระหนักถึงประเด็นเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเฉพาะแก่สมาชิกที่จบหลัง พรบ.บังคับใช้ แต่ค่าธรรมเนียมถูกนำมาใช้ในการพัฒนาระบบงานของทันตแพทยสภาทั้งระบบ ซึ่งจะมีผลต่อสมาชิกทุกคน จึงขอเรียนให้ทราบว่าทันตแพทยสภาจะพยายามบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และสมาชิกทันตแพทยสภาให้มากที่สุด และเตรียมการการชดเชยด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่สมาชิกกลุ่มที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการต่อใบอนุญาตฯ ดังกล่าวอย่างเหมาะสมต่อไป”
คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
10 พฤศจิกายน 2565