เว็บไซต์ dentalcouncil.or.th มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์


การใช้งาน Cookie ของ dentalcouncil.or.th

  • เพื่อช่วยจดจำข้อมูลเกี่ยวกับเบราว์เซอร์และการตั้งค่าของท่าน และช่วยให้ท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้บริการ
  • เพื่อช่วยประเมินประสิทธิภาพและผลการให้บริการเว็บไซต์ที่ยังทำงานได้ไม่ดีและควรปรับปรุง
  • เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการเข้าเยี่ยมชมและใช้บริการเว็บไซต์

  • การใช้งานเว็บไซต์
    Cookie ทีมีความจำเป็น เพื่อประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์
    จำเป็น

สิทธิผู้ป่วยทางทันตกรรม

สิทธิผู้ป่วยทางทันตกรรม

ข้อบังคับทันตแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรมว่าด้วยสิทธิของผู้ป่วย พ.ศ.2541

โดยที่คำประกาศสิทธิของผู้ป่วยที่สภาวิชาชีพทางการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันประกาศรับรองสิทธิของผู้ป่วย ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2541 เพื่อเป็นการรับรองสิทธิของผู้ป่วยต่อการรับบริการทางการแพทย์ แต่มิได้มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายอย่างชัดเจน ทันตแพทยสภาเป็นองค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ที่ร่วมรับรอง คำประกาศสิทธิผู้ป่วยดังกล่าว ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพ ทันตกรรมตระหนักและปฏิบัติตามสิทธิของผู้ป่วยอย่างแท้จริง จึงสมควรให้คำประกาศสิทธิของผู้ป่วยมีผลทางกฎหมาย อันจะเป็นการคุ้มครองผู้รับบริการทางด้านทันตกรรม

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (4) มาตรา 9 (7) มาตรา 23 (4) (ฏ) (ฌ) โดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537 และมติที่ประชุมคณะกรรมการทันตแพทยสภาในการประชุม ครั้งที่ /2550 เมื่อวันที่ พ.ศ.2550 จึงออกข้อบังคับทันตแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรมว่าด้วยสิทธิของผู้ป่วย พ.ศ. ....ดังนี้

  1. ให้ถือว่าข้อกำหนดในข้อบังคับนี้ เป็นจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรมตามความหมายในข้อบังคับทันตแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรมผู้ป่วยหมายถึงผู้รับบริการทางวิชาชีพทันตกรรม
  2. ให้ยกเลิกข้อความในข้อ 15 ของข้อบังคับทันตแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2538
  3. ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมต้องยอมรับว่าผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิ์พื้นฐานที่จะได้รับบริการด้านสุขภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
  4. ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมต้องแจ้งข้อมูลอย่างเพียงพอและเข้าใจชัดเจนเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือเร่งด่วนหรือจำเป็น
  5. ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมต้องให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะอันตราย เสี่ยงต่อชีวิตอย่างรีบด่วน โดยทันทีตามความจำเป็นแก่กรณี โดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วยจะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่
  6. ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมต้องแจ้งชื่อ สกุล ประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมแก่ผู้ป่วย เมื่อได้รับการร้องขอ
  7. ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมต้องยินดีและเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านทันตกรรมหรือด้านสุขภาพอื่น ที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ผู้ป่วยและให้ผู้ป่วยมีสิทธิขอเปลี่ยนผู้ให้บริการและสถานบริการได้
  8. ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมต้องแจ้งข้อมูลอย่างครบถ้วน และอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจเพื่อให้ผู้ป่วยตัดสินใจเข้าร่วมหรือถอนตัวจากการเป็นผู้ถูกทดลองในการทำวิจัยของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม
  9. ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรมต้องเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเฉพาะของตนที่ปรากฎในเวชระเบียนเมื่อผู้ป่วยร้องขอ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น
  10. ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ต้องให้สิทธิแก่บิดา มารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรมในการใช้สิทธิแทนผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ ผู้บกพร่องทางกายหรือทางจิต ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิด้วยตนเอง ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สิทธิผู้ป่วย

"สิทธิ"" คำๆนี้ ในช่วงเหตุการณ์ทางการเมืองบ้านเราที่ผ่านมา ค่อนข้างจะเป็นคำที่ยอดฮิตติดอันดับต้นๆเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง ที่มักจะอ้างบ่อยๆว่า การชุมนุมของพวกเขาเหล่านั้นเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63ที่ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นเรื่องของเสรีภาพในการชุมนุมที่รัฐให้การรับรอง แล้วถ้าเกี่ยวกับผู้ป่วยล่ะ ผู้ป่วยจะมีสิทธิอะไรได้บ้าง ? มีกฎหมายรับรองสิทธิไว้หรือไม่?

สำหรับสิทธิของผู้ป่วยนั้น มีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน คือ สิทธิที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในตัวเองเมื่ออยู่ในสถานภาพของผู้ป่วยเช่น สิทธิที่รับรู้ว่า ใครเป็นคนรักษา , จะทำการรักษาด้วยวิธีการอย่างไร ,ใช้อะไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งสิทธิต่างนี้ จะเกิดขึ้นเองโดยที่ไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมาย เป็นเรื่องที่สามารถสอบถามได้เสมอ

ส่วนสิทธิอีกส่วนหนึ่งคือสิทธิที่เกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย โดยกำหนดขึ้นเพื่อให้การคุ้มครองผู้ป่วย เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 51 บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ดังนั้น

เพื่อให้ผู้ป่วยได้ทราบถึงสิทธิของตนเองไว้ว่าจะเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นหรือสิทธิที่กฎหมายได้บัญญัติรับรองไว้ และเพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอันดีและเป็นที่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน องค์กรวิชาชีพที่ให้บริการทางสาธารณสุข คือ แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา และคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิผู้ป่วยดังกล่าว จึงได้รวบรวมและร่วมกันจัดทำเป็นคำประกาศสิทธิผู้ป่วย และกำหนดให้สถานพยาบาลทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลหรือเอกชนติดคำประกาศดังกล่าวไว้ให้ประชาชนผู้เข้ามาใช้บริการได้ทราบถึงสิทธิของตนเอง ซึ่งคำประกาศสิทธิผู้ป่วยนั้น มีทั้งสิ้น 10 ข้อ บางคนเคยเห็นแต่ไม่เคยอ่าน บางคนก็อ่านแบบผ่านๆ ไม่ได้สนใจเท่าไหร่ จึงอยากจะขอให้ทุกท่านถ้าได้ไปใช้บริการสถานพยาบาลที่ใดก็ตาม หากมีเวลาก็ลองอ่านคำประกาศสิทธิผู้ป่วยอย่างละเอียดดู จะพบว่าเป็นสิทธิที่เราพึงมีพึงได้จริงๆ เพื่ออธิบายถึงสิทธิผู้ป่วยตามคำประกาศดังกล่าว จึงขอเสนอเป็นข้อๆดังนี้

  1. เป็นสิทธิที่ทุกคนจะได้รับบริการด้านสุขภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 51 บัญญัติให้ทุกคนย่อมมีสิทธิเสมอกันการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน เป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
  2. สิทธิที่จะได้รับบริการโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติเนื่องจากความแตกต่างด้านฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม ลัทธิการเมือง เพศ อายุ หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะชอบพรรคการเมืองใด, จะใส่เสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง ,จะรวยหรือจน,จะเด็กหรือแก่ หล่อหรือไม่หล่อ หรือจะสวยหรือไม่สวยก็ตาม จะต้องได้รับบริการโดยเสมอภาคเท่าเทียมกัน ซึ่งในความเป็นจริงนั้นมักจะมีปัญหาในบางกรณีโดยเฉพาะในเรื่องของฐานะความรวยความจน ซึ่งมักจะมีเรื่องร้องเรียนกันบ่อยๆ ว่าคนจนมักจะได้รับบริการไม่เหมือนกับคนรวย
  3. สิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอ เช่น ถ้าต้องการทราบว่าตนเองเป็นโรคอะไร ต้องรักษาด้วยวิธีไหน รักษาอย่างไร ผลการรักษาจะเป็นเช่นไร มีโอกาสจะหายหรือไม่ ค่ารักษาเท่าไหร่ ก็มีสิทธิที่จะถามได้ หรือบางครั้งมีวิธีการรักษาหลายวิธี เราก็มีสิทธิที่จะเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งได้ หรือตัดสินใจที่จะไม่ยอมให้รักษาก็ได้ เหตุที่ต้องถามเพราะบางครั้ง จำนวนผู้ป่วยมีมาก ใช้เวลาตรวจนาน ผู้ป่วยจึงมักไม่ค่อยได้รับการอธิบายโดยละเอียด หรือบางครั้งอธิบายไปแล้วผู้ป่วยไม่เข้าใจ หรือลืมไปแล้วว่าได้รับฟังมาอย่างไร ซึ่งมักจะมีปัญหาอยู่เสมอๆในเรื่องเหล่านี้
  4. เมื่ออยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ก็มีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือรีบด่วนโดยทันทีตามความจำเป็นแก่กรณีโดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วยจะร้องขอหรือไม่ ซึ่งกรณีมักจะมีปัญหาและเป็นข่าวบ่อยๆที่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินและไปถึงโรงพยาลบาลแล้ว หมอไม่ยอมรักษาเพราะต้องถามก่อนว่ามีเงินพอค่ารักษาหรือเปล่า ถ้าไม่พอก็จะส่งไปที่อื่นโดยไม่ได้ให้การรักษาเร่งด่วนตามแต่กรณีก่อน ซึ่งเหตุการณ์อย่างนี้ไม่สมควรจะเกิดขึ้นเลย
  5. สิทธิที่จะทราบชื่อ สกุลของผู้ที่ให้บริการ เช่นเมื่อเข้าห้องตรวจผู้ป่วยสามารถถามชื่อหมอหรือพยาบาลที่จะทำการตรวจรักษาเราได้ ( แต่ส่วนใหญ่มักจะทราบอยู่แล้วเพราะมีชื่อหมอติดอยู่หน้าห้อง )
  6. สิทธิที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่นที่มิได้ให้บริการแก่ตนและมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการและสถานบริการได้ เช่น เมื่อผู้ป่วยสงสัยในการตรวจ รักษา ก็มีสิทธิที่จะขอความเห็นจากหมออีกคนที่ไม่ได้เป็นผู้รักษาเราได้ หรือถ้ารักษากับหมอคนนี้แล้วไม่ถูกใจ หมอพูดไม่ดี ชอบดุหรือไม่ประทับใจ ก็ขอเปลี่ยนหมอได้ หรือถ้าไม่สะดวกที่จะมารักษาที่โรงพยาบาลนี้ก็สามารถเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ เป็นต้น
  7. สิทธิที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ซึ่งสิทธิในข้อนี้นั้นเป็นจรรยาบรรณที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับของวิชาชีพทางด้านสุขภาพที่ผู้ประกอบวิชาชีพต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยหรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
  8. สิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนในการตัดสินใจเข้าร่วมหรือถอนตัวจากการเป็นผู้ถูกทดลอง หมายความว่าในบางกรณีหมอจะทำการศึกษาวิจัย ตัวยา หรือเทคโนโลยีในการรักษาใหม่ๆต้องทำในผู้ป่วย เราในฐานะผู้ป่วยก็มีสิทธิที่จะทราบถึงรายละเอียดของการทดลอง ผลดี ผลเสีย ,ระยะเวลาการทดลองหรือข้อมูลต่างๆเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมในการทดลองครั้งนี้หรือถ้าเข้าร่วมแล้วก็มีสิทธิที่จะถอนตัวจากการทดลองได้
  9. สิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเฉพาะของตนที่ปรากฏในเวชระเบียนเมื่อร้องขอ ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น หมายความว่า ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะขอข้อมูลส่วนตัวที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของตนเองที่อยู่ในเวชระเบียน แต่ไม่ใช่ไปขอ เอกสารเวชระเบียน เพราะเอกสารเวชระเบียนเป็นทรัพย์สินของทางสถานพยาบาล
  10. บิดา มารดา หรือผู้เทนโดยชอบธรรม อาจใช้สิทธิแทนผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ ผู้บกพร่องทางกายหรือจิตซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิด้วยตนเองได้ ซึ่งสิทธิข้อนี้นั้นมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่แล้ว เพียงแต่นำมาไว้ในคำประกาศสิทธิผู้ป่วยเพื่อย้ำถึงความที่มีอยู่ของสิทธิดังกล่าว

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง