เว็บไซต์ dentalcouncil.or.th มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์


การใช้งาน Cookie ของ dentalcouncil.or.th

  • เพื่อช่วยจดจำข้อมูลเกี่ยวกับเบราว์เซอร์และการตั้งค่าของท่าน และช่วยให้ท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้บริการ
  • เพื่อช่วยประเมินประสิทธิภาพและผลการให้บริการเว็บไซต์ที่ยังทำงานได้ไม่ดีและควรปรับปรุง
  • เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการเข้าเยี่ยมชมและใช้บริการเว็บไซต์

  • การใช้งานเว็บไซต์
    Cookie ทีมีความจำเป็น เพื่อประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์
    จำเป็น

ข่าวประชาสัมพันธ์

รายงานผลการสำรวจเรื่อง “ทันตแพทย์กับการโฆษณา”

รายงานผลการสำรวจเรื่อง

“ทันตแพทย์กับการโฆษณา”


  • บทนำ

  ปัจจุบันพบปัญหาการปฏิบัติตามข้อบังคับทันตแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ พ.ศ. 2538 ในด้านการโฆษณาค่อนข้างต่ำ มีการกระทำไม่สอดคล้องกับข้อบังคับโดยทั่วไป การดำเนินการของทันตแพทยสภาจึงจำเป็นต้องพิจารณากว้างไปกว่าการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว จึงพิจารณาเห็นถึงบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี และปรัชญาในประเด็นการโฆษณาที่อาจเปลี่ยนแปลงไป ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรทันตแพทยสภาวาระที่ 10 จึงสำรวจความคิดเห็นสมาชิก เพื่อใช้เป็นข้อมูลนำเข้าในการปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะกับยุคสมัย และสร้างความตระหนักในประเด็นจรรยาบรรณด้านนี้ให้แก่สมาชิกด้วย


  • วิธีการ

  เก็บข้อมูล 3 ด้าน ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล ความคิดเห็นต่อพฤติกรรมที่เข้าข่ายโฆษณาในรูปแบบต่างๆ รวมถึงปรัชญาจรรยาบรรณวิชาชีพด้านการโฆษณา และความเห็นเรื่องความเหมาะสมของข้อบังคับฯ จรรยาบรรณต่อโลกยุคปัจจุบัน ผ่านระบบแบบสำรวจ SurveyMonkey ระหว่างวันที่ 20 - 30 พฤศจิกายน 2566 โดยกำหนดกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธี voluntary sampling ที่ให้การยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรขณะกรอกแบบสอบถาม ข้อมูลได้รับการวิเคราะห์แบบ descriptive statistics และ Chi-square test ในการเปรียบเทียบผลระหว่างกลุ่มอายุ


  • ผลการสำรวจ

  ผู้ตอบแบบสอบถามครบทุกข้อจำนวน 670 คน (จากยอดตอบแบบสำรวจ 766 คน) จากทั่วประเทศ ผู้ตอบกว่าร้อยละ 40 เป็นทันตแพทย์ช่วงอายุ 31 - 40 ปี แบบสำรวจในส่วนความเห็นต่อพฤติกรรมการโฆษณา 4 แบบ (1) เริ่มด้วยเพจความรู้จบด้วยขายของและโปรโมชั่น (2) ให้ความรู้พร้อมแนะนำผลิตภัณฑ์และช่องทางซื้อของ (3) ผลิตภัณฑ์เสริมความงานฟันโดยทันตแพทย์ และ (4) ผลิตยาสีฟันเองแล้วอ้างว่าเป็นยาสีฟันที่ดีที่สุด ปรากฎว่าทันตแพทย์ส่วนใหญ่ (58.90 - 87.92 %) ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมการโฆษณาทั้งสี่สถานการณ์ข้างต้นตามลำดับจากไม่เห็นด้วยน้อยไปมากที่สุด ทันตแพทย์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยว่าการโฆษณาจำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพ แต่การโฆษณานั้นก็มิได้เป็นสิ่งผิดเสียทีเดียว โดยทันตแพทย์ร้อยละ 45 มีข้อกังวลว่าการโฆษณาจะทำให้ภาพลักษณ์วิชาชีพกลายเป็นการค้ามากกว่าการแพทย์ ในขณะที่ประโยชน์ของการโฆษณาในการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทันตกรรมคุณภาพสูงนั้น ไม่ชัดเจน (คะแนนใกล้เคียงกัน) หากพิจารณากฎหมายข้อบังคับทันตแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ พ.ศ. 2538 แล้ว ทันตแพทย์ร้อยละ 60 เห็นว่าเนื้อหามีความชัดเจน เข้าใจง่าย และส่งเสริมจริยธรรมดี แต่ไม่สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การปฏิบัติตามกฎหมายมีต่ำ


  นอกจากนี้ ผลการสำรวจที่กล่าวมา มีบางประเด็นที่พบว่าแตกต่างระหว่างกลุ่มอายุอย่างชัดเจน หรือมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยทันตแพทย์กลุ่มที่มีอายุมากกว่า ไม่เห็นด้วยกับการโฆษณาในวิชาชีพ มีความรู้สึกว่าการโฆษณานั้นผิดจรรยาบรรณ เห็นว่าการโฆษณาไม่ได้มีประโยชน์ต่อตัววิชาชีพ และทำให้ภาพลักษณ์ของวิชาชีพเป็นธุรกิจมากขึ้น รวมถึงคิดเห็นว่าการโฆษณาไม่ได้ทำให้เพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มทันตแพทย์ที่มีอายุน้อยกว่า อีกทั้งทันตแพทย์จบใหม่หรือจบแล้วไม่เกิน 20 ปี พบว่าข้อบังคับฯไม่มีความสอดคล้องกับบริบททางสังคมและเศรษฐกิจและสมาชิกนั้นยากที่จะปฏิบัติตามได้ในปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มทันตแพทย์ที่อายุมากกว่า 60 ปี ที่มีความเห็นส่วนใหญ่ว่าสอดคล้อง และสามารถปฏิบัติตามข้อบังคับได้


  • อภิปรายและการนำไปใช้

  ทันตแพทย์กว่าร้อยละ 80 ต้องการให้มีการปรับปรุงกฎหมาย โดยข้อเสนอทิศทางการปรับปรุงกฎหมาย ทันตแพทย์ราวร้อยละ 80 มองว่า ทันตแพทย์ควรสามารถให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทันตกรรมได้ แต่ต้องไม่ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าตนสนับสนุนผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง หรือ ต้องมีกลไกเรื่อง “ความโปร่งใสของข้อมูล” ที่มีการประกาศความเกี่ยวข้องของทันตแพทย์ต่อผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้ทราบโดยทั่วกัน ทิศทางการแก้กฎหมายที่ทันตแพทย์ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 60 ขึ้นไป) เสนอ คือ ให้มีการขยายขอบเขตของกิจกรรมการโฆษณาให้ทันตแพทย์ทำได้มากขึ้น การขยายเนื้อหาของการให้ข้อมูลให้ได้มากกว่าเพียงชื่อ สกุล สถานที่ปฏิบัติงาน และให้กฎหมายใหม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติได้ง่าย ลดความลักลั่นในการบังคับใช้ข้อบังคับฯ ว่าด้วยจรรยาบรรณ


เรียบเรียงโดย ทพ.กฤตเมธ ชีรนรวนิชย์

อ.ดร.ทพญ.ปิยดา แก้วเขียว

พ.ต.ธนศักดิ์ ถัมภ์บรรฑุ

ทพญ.ปภาวรินท์ ตีระจินดา

และทีมสำรวจความเห็นสมาชิก

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ทันตแพทยสภา



หัวข้ออื่น ๆ :