เว็บไซต์ dentalcouncil.or.th มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์


การใช้งาน Cookie ของ dentalcouncil.or.th

  • เพื่อช่วยจดจำข้อมูลเกี่ยวกับเบราว์เซอร์และการตั้งค่าของท่าน และช่วยให้ท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้บริการ
  • เพื่อช่วยประเมินประสิทธิภาพและผลการให้บริการเว็บไซต์ที่ยังทำงานได้ไม่ดีและควรปรับปรุง
  • เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการเข้าเยี่ยมชมและใช้บริการเว็บไซต์

  • การใช้งานเว็บไซต์
    Cookie ทีมีความจำเป็น เพื่อประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์
    จำเป็น

ข่าวประชาสัมพันธ์

จรรยาบรรณทันตแพทย์ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้

“จรรยาบรรณทันตแพทย์ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้”


โดย ผศ.ทพ.ดร.สุชิต พูลทอง (นายกทันตแพทยสภา) และ ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล (อุปนายกทันตแพทยสภา) บรรยายสำหรับองค์กรแพทย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566

สามารถชมการบรรยายย้อนหลังได้ที่  https://fb.watch/jKd05n2bwq/



** หมายเหตุ เนื้อหาในบทความเป็นการสรุปบทเรียนให้ง่ายเพื่อความเข้าใจเท่านั้น

การพิจารณคดีจรรยาบรรณจริง จำเป็นต้องดูบริบทและพฤฤติการณ์เป็นกรณีๆ ไป **


• เมื่อทันตแพทย์ถูกร้องเรียน สภาพิจารณาอย่างไร (นาทีที่ 14.20)

  เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่ทันตแพทยสภา เพื่อกล่าวโทษทันตแพทย์ว่าประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม อนุกรรมการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย จะรับเรื่องไว้เบื้องต้นและชี้แจงแก่ผู้ร้องเรียนว่าผลของการพิจารณาจะมีผลต่อการประกอบวิชาชีพทันตแพทย์เท่านั้น ได้แก่ การว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใบอนุญาตตามสมควรแต่ไม่เกิน 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต แต่หากผู้ร้องเรียนต้องการค่ารักษาคืน จะแนะนำให้กลับไปเจรจากับทันตแพทย์เอง หากยืนยันจะร้องเรียนต่อ เรื่องจะถูกส่งไปที่ 1 ในคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณซึ่งมี 10 คณะ ทำหน้าที่สืบสวน หาข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทันตแพทย์ ผู้ช่วย ผู้ป่วย หรือในบางกรณีจะมีการขอความเห็นผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยฯ โดยหลักฐานที่ใช้ในการพิจารณา ต้องเป็นข้อมูลที่มีน้ำหนัก เช่น ฟิล์ม x-ray ภาพถ่าย model และ บันทึกการรักษา จากนั้นจะให้ความเห็นว่าคดีดังกล่าวมีมูลหรือไม่มีมูล แล้วทำความเห็นเสนอต่อกรรมการทันตแพทยสภา หลังจากนั้นกรรมการสภาจะตัดสินโดยการลงมติว่าคดีมีมูลหรือไม่ หากไม่มีมูลจะเป็นอันจบไป แต่หากมีมูลจะมีการส่งให้คณะอนุกรรมการสอบสวน ซึ่งจะสอบสวนข้อมูลโดยละเอียด และเสนอความเห็นการพิจารณาบทลงโทษต่อทันตแพทยสภา กรรมการทันตแพทยสภาจะเป็นผู้ตัดสินท้ายที่สุดว่าจะยกข้อกล่าวหา หรือลงโทษทันตแพทย์ ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด กระบวนการเหล่านี้ใช้เวลารวมประมาณ 1 ปีขึ้นไป

  คดีเหล่านี้จะมีอายุความ 1 ปีนับจากรู้ความเสียหาย และ 3 ปีหลังเกิดเหตุการณ์ เช่น ผู้ป่วยอุดฟันมา 2 ปี แต่เพิ่งเกิดปัญหา สามารถร้องเรียนได้ภายใน 1 ปีหลังมีปัญหา ซึ่งระยะเวลานี้อยู่ภายใน 3 ปี หลังอุดฟัน เป็นต้น



• ทันตแพทย์ถูกร้องเรียนเรื่องอะไรบ้าง (นาทีที่ 36.34)

  ข้อจรรยาบรรณที่ทันตแพทย์ถูกร้องเรียน ตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2565 เรื่องที่ถูกร้องเรียนสูงสุด ได้แก่ มาตรฐานวิชาชีพ 79% สำหรับความประพฤติไม่เหมาะสม 14% ปฎิบัติต่อผู้ร่วมวิชาชีพ 4% โฆษณาการประกอบวิชาชีพ 3%

  ทันตกรรมจัดฟันเป็นงานที่ถูกร้องเรียนอันดับ 1 = 98 คดี รองลงมาเป็นทันตกรรมประดิษฐ์ และศัลยกรรม 48% และ 41% ตามลำดับ



• กรณีศึกษา (นาทีที่ 39.13)

                      o ผู้ช่วยทันตแพทย์สามารถถอดยางจัดฟันหรือตัดลวดที่ทิ่มแก้ม ให้ผู้ป่วยได้หรือไม่ (นาทีที่ 39.13)

  ทำไม่ได้ การถอดยางจัดฟัน หรือตัดลวดที่ทิ่มแก้ม ถือเป็นการรักษา ทันตแพทย์ผู้ที่ให้ผู้ช่วยทำ และทันตแพทย์ผู้ดำเนินการคลินิก ผิดจรรยาบรรณ (ข้อ 10) โทษในข้อนี้มีแนวปฏิบัติในการพักใช้ใบอนุญาต 1-2 ปี

  ทันตแพทย์ผู้มีใบประกอบวิชาชีพทันตกรรมเท่านั้นที่สามารถรักษาในช่องปากได้ ทันตาภิบาลได้รับข้อยกเว้นเฉพาะงานในสถานพยาบาลของรัฐ ไม่สามารถทำในสถานพยาบาลเอกชนได้ ส่วนผู้ช่วย หรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ไม่สามารถรักษาในช่องปากได้

                     o บันทึก chart ว่าได้แจ้งโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังรักษาแล้ว แต่ไม่ได้ให้ผู้ป่วยเซ็นรับทราบ ใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายได้หรือไม่ (นาทีที่ 53.08)

  เมื่อทันตแพทย์แจ้งสาระสำคัญของการรักษา เช่น ค่ารักษา โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนแก่ผู้ป่วย เพื่อประกอบการตัดสินใจ ตามจรรยาบรรณข้อ 20 การบันทึกใน chart ก็ถือว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่มีน้ำหนักแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้ให้ผู้ป่วยเซ็นรับทราบก็ตาม ทั้งนี้ต้องไม่ได้เป็นข้อความที่เขียนแทรกมาในภายหลัง

                    o ทำ file หักระหว่างการรักษารากฟัน พิจารณาไม่นำออก แต่ไม่บอกผู้ป่วยได้หรือไม่ (นาทีที่ 58.15)

  เมื่อทันตแพทย์ทำการรักษาแล้วเกิดความผิดพลาด เช่น ถอนฟันผิดซี่ หัวกรอบาดแก้ม หรือทำ file หักในคลองรากฟัน ต้องแจ้งผู้ป่วยทราบ ไม่ควรปกปิด และหาทางออกร่วมกัน แสดงความรับผิดชอบว่าพร้อมแก้ไขหากมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต แม้จะมีหลักฐานทางวิชาการว่าสามารถทิ้งชิ้นส่วน file ไว้ในคลองรากฟันได้ แต่หากภายใน 3 ปี ผู้ป่วยทราบโดยบังเอิญจากการไปถ่าย x-ray ซี่ข้างเคียง แล้วผู้ป่วยร้องเรียน ทันตแพทย์จะมีความผิด

                 o จัดฟัน ปักหมุดไป 18 ตัว ทำได้หรือไม่ (นาทีที่ 1.01.14)

  ทันตแพทย์ต้องรักษาโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความสิ้นเปลืองของผู้ป่วย ดังนั้นการปักหมุด 18 ตัว หากเกินความจำเป็นและไม่ได้ใช้ ผิดจรรยาบรรณข้อ 8 (ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมต้องประกอบวิชาชีพทันตกรรมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความสิ้นเปลืองของผู้ป่วย)

                o หากเคสที่รักษานั้นยากเกินความสามารถ แต่ไม่ refer จะเกิดอะไรขึ้น (นาทีที่ 1.05.45)

  ทันตแพทย์ต้องยึดถือระบบส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาทางทันตกรรมที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่า หากไม่ส่งต่อแล้วเกิดความเสียหายและถูกร้องเรียน ทันตแพทย์ผิดจรรยาบรรณ ข้อ 21

              o ให้โปรโมชั่นแก่ผู้ป่วยจัดฟันที่ย้ายมารักษาต่อกับคลินิกเรา ทำได้หรือไม่ (นาทีที่ 1.06.47, นาทีที่ 1.15.40)

  กรณีผู้ป่วยอยากเปลี่ยนทันตแพทย์ด้วยตัวเอง สามารถทำได้ แต่ทันตแพทย์ต้องไม่ชักจูงผู้ป่วยของผู้อื่นมาเป็นของตน ผิดจรรยาบรรณข้อ 33 การให้ส่วนลด โปรโมชั่น เช่น ย้ายมาถอดเครื่องมือที่คลินิกนี้ ได้ส่วนลดค่ารีเทนเนอร์ เข้าข่ายเป็นการชักจูง จึงไม่ควรทำ

             o ตำหนิการอุดฟันของทันตแพทย์คนอื่นให้ผู้ป่วยฟัง ทำได้หรือไม่ (นาทีที่ 1.10.01)

  ทันตแพทย์ต้องไม่ทับถมว่ากล่าว ติเตียนหรือวิพากษ์วิจารณ์การรักษาของผู้อื่น ทั้งต่อหน้าและลับหลัง หรือต่อหน้าผู้ป่วย ผิดจรรยาบรรณข้อ 31-32 แต่เมื่อเห็นข้อผิดพลาดจากการรักษาของผู้อื่น ควรแจ้งผู้ป่วยไปเฉพาะข้อเท็จจริง ไม่ใช้อารมณ์ และแนะนำให้กลับไปหาทันตแพทย์เดิม หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ป่วยว่าจะกลับไปหรือหรือย้ายมารักษาต่อกับท่าน



• คำโฆษณาคลินิก คำไหนใช้ได้/ไม่ได้ (นาทีที่ 1.18.06)

  โฆษณาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพทันตกรรมจะมีกฎหมายควบคุม 2 ฉบับ ได้แก่ พรบ. สถานพยาบาล ควบคุมการโฆษณาสถานพยาบาล ฉบับล่าสุดมีผลเมื่อ พ.ศ. 2561 และพรบ.วิชาชีพทันตกรรม ควบคุมการโฆษณาวิชาชีพ ตั้งแต่ พ.ศ. 2538

  สำหรับการโฆษณาคลินิก ตามพรบ.สถานพยาบาล ต้องไม่ปรากฏชื่อทันตแพทย์ ห้ามโฆษณาโดยใช้ข้อความเป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง หรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ


คำโฆษณาที่สามารถใช้ได้

    1.  โปรโมชั่นพิเศษ, ลด….%, ฟรี, รับประกัน….ปี (สามารถใช้ได้ โดยระบุวันเวลาอย่างชัดเจน และเป็นไปตามเงื่อนไข)

   2.  มีภาพถ่ายก่อน-หลัง (ต้องเป็นคนไข้ของคลินิกจริงเท่านั้น ไม่ตกแต่งภาพเพิ่ม คนไข้ต้องมีหนังสือยินยอมให้ใช้ภาพ และให้ระบุข้อความใต้ภาพว่า “ใช้เป็นตัวอย่างผลจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย”)


คำโฆษณาที่ไม่สามารถใช้ได้

       1. มาตรฐานสากล, ระดับพรีเมี่ยม

      2. ไม่ปวด, ไม่เจ็บ, ไม่บวม

      3. เริ่มต้นเพียง..… จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีราคาสิ้นสุดเขียนไว้เท่านั้น

     4. คลินิกเราติดอันดับ Top 10

     5. ศูนย์ (จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีทันตแพทย์เฉพาะทางคุณวุฒิระดับวุฒิบัตร หรืออนุมัติบัตร จำนวน 3 คนขึ้นไป)

     6. ครบวงจร



• โฆษณาการประกอบวิชาชีพทันตกรรม ทำได้แค่ไหน (นาทีที่ 1.22.04)

ตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณ พ.ศ. 2538 การโฆษณาเกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณข้อ 22-30 สรุปได้ดังนี้

     1. ห้ามโฆษณา/จ้างหรือยินยอมให้มีการโฆษณา ตนเองหรือทันตแพทย์คนอื่นว่ามีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพ ยกเว้นในการแสดงผลงานวิชาการ แสดงผลงานในหน้าที่หรือบำเพ็ญประโยชน์ หรือเพื่อการศึกษา การประกาศเกียรติคุณอย่างเป็นทางการ จะต้องไม่เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคล

     2. ข้อความที่แสดงได้ ได้แก่ ชื่อ สกุล ยศ ตำแหน่งทางวิชาการ ชื่อปริญญา คุณวุฒิ สาขาของวิชาชีพ และเวลาทำการ ที่อยู่ โทรศัพท์เท่านั้น

     3. ทันตแพทย์ที่ให้ข้อมูลทางวิชาการ ตอบคำถามทางสื่อมวลชน ถ้าแสดงตัวว่าเป็นทันตแพทย์ ต้องไม่แจ้งสถานที่ทำงานไปในทำนองโฆษณา

     4. ห้ามโฆษณา/จ้างหรือยินยอมให้นำชื่อตนเองไปโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางทันตกรรมต่อประชาชนทางสื่อต่างๆ แต่สามารถกล่าวถึงชื่อผลิตภัณฑ์ในการประชุมวิชาการในหมู่ทันตแพทย์ด้วยกันเองได้



• แชร์ภาพผลการรักษาในเฟสบุค ทำได้หรือไม่ (นาทีที่ 1.57.51)

  การแชร์เคสที่ตนเองทำใน social media เข้าข่ายโฆษณาการประกอบวิชาชีพ ผิดจรรยาบรรณข้อ 28 ต้องระมัดระวังมิให้การประกอบวิชาชีพทันตกรรมแพร่ออกไปในสื่อมวลชนเป็นไปในทำนองโฆษณาคุณวุฒิ ความรู้ความสามารถของตน หรือของผู้อื่น



• กล้องวงจรปิด ติดที่ไหนได้บ้าง (นาทีที่ 1.33.10)

  สถานที่ติดกล้องวงจรปิด ต้องมีป้ายระบุไว้ สามารถติดตั้งได้ที่ห้องโถง และหน้าคลินิก ห้ามติดในห้องทำหัตถการเด็ดขาด แต่ในส่วนนี้ทางสภากำลังนำเสนอคณะกรรมการสถานพยาบาล ให้อนุญาตติดกล้องในห้องทำหัตถการด้วยมุมไกล และไม่ให้นำออกมาเผยแพร่ โดยจะนำมาใช้เป็นหลักฐานเฉพาะกรณีที่มีการร้องเรียนเท่านั้น



• “ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ” “ทันตแพทย์เฉพาะทาง” หมายถึงใครบ้าง (นาทีที่ 1.35.55)

  ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือทันตแพทย์เฉพาะทาง ในความหมายของทันตแพทยสภา คือ ทันตแพทย์ที่สอบผ่านได้รับอนุมัติบัตร หรือวุฒิบัตร ในประเทศไทยเท่านั้น ไม่นับรวมหลักสูตรอื่นๆ ได้แก่ ประกาศนียบัตร ปริญญาโท ปริญญาเอก หรือได้รับบอร์ดจากต่างประเทศ ซึ่งกรณีดังกล่าว สามารถใช้คำว่า “ทันตแพทย์ด้าน/สาขา….....” ได้

   ข้อบังคับทันตแพทยสภา ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2538 ยังไม่เคยมีการแก้ไขมาก่อน ทันตแพทยสภากำลังดำเนินการตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของทันตแพทยสภา เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสังคมปัจจุบันหลังจากนั้นจะมีการทำประชาพิจารณ์ต่อไป อย่างไรก็ตาม ทันตแพทย์พึงรักษามาตรฐานวิชาชีพ ดูแลผู้ป่วยเหมือนคนในครอบครัว ปฏิบัติตนอย่างให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน และผู้ร่วมวิชาชีพ จะสามารถลดปัญหาความขัดแย้งและการร้องเรียนต่างๆ ได้



เอกสารอ้างอิง

 ข้อบังคับทันตแพทยสภา ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2538

https://dentalcouncil.or.th/upload/files/6gf01PkXZH2BNsmrJ4O3wKydQFVvUIC8.pdf

คู่มือการปฏิบัติงานการพิจารณาอนุมัติการโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล

https://hss.moph.go.th/show_topic.php?id=2631


ถอดสรุปและเรียบเรียงบทความโดย

ทพญ.ปองกานต์ กาญจนวัฒนา กรรมการทันตแพทยสภา

ทพญ.วิรัลพัชร นิธิพงษ์ อนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ทันตแพทยสภา

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ทันตแพทยสภา 

หัวข้ออื่น ๆ :