เว็บไซต์ dentalcouncil.or.th มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์


การใช้งาน Cookie ของ dentalcouncil.or.th

  • เพื่อช่วยจดจำข้อมูลเกี่ยวกับเบราว์เซอร์และการตั้งค่าของท่าน และช่วยให้ท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้บริการ
  • เพื่อช่วยประเมินประสิทธิภาพและผลการให้บริการเว็บไซต์ที่ยังทำงานได้ไม่ดีและควรปรับปรุง
  • เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการเข้าเยี่ยมชมและใช้บริการเว็บไซต์

  • การใช้งานเว็บไซต์
    Cookie ทีมีความจำเป็น เพื่อประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์
    จำเป็น

ข่าวประชาสัมพันธ์

พีทอีกแหลกกินหนัก รักษาฟันหลักแสน

พีทอีกแหลกกินหนัก รักษาฟันหลักแสน



จากประเด็นคุณพีทอีทแหลกพูดในรายการ Now you C-Amy EP.146 เปิดใจในรายการว่าอยากเลิกเป็นนักกินเพราะถ้าอยากเป็นนักกินจุ อยากกินเยอะต้องเก็บเงินดูแลรักษาฟันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเจ้าตัวมีปัญหาเกี่ยวกับฟันทั้งหมด 32 ซี่ และจ่ายค่ารักษารากฟันถึง “หกแสนบาท” ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความน่าสนใจอย่างมาก กับวงการนักกินจุ สายกินเยอะ รวมไปถึงคนที่ชอบกินจุกจิก


ทางทีมงานของทันตแพทยสภา จึงได้สอบถามไปยังทันตแพทย์เพื่อขอความเห็นในกรณีดังกล่าว ได้ความเห็นว่า


ก่อนอื่น ขอแจ้งก่อนครับว่าหมอไม่ได้เห็นสภาพช่องปากของคุณพีท แต่จะขอให้ความเห็นและความเป็นไปได้ โดยอ้างอิงจากหลักวิชาการดังนี้


จากปัญหาที่คุณพีทได้แจ้งไว้ในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ จะขอเกริ่นนำก่อนว่า การใช้ฟันเพื่อเคี้ยวอาหารนั้น ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่ได้ใช้เพียงแค่ฟันเท่านั้น แต่เป็นระบบบดเคี้ยวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฟัน อวัยวะรองรับฟัน กล้ามเนื้อที่ใช้ในการบดเคี้ยว ลิ้น อวัยวะอื่นๆ ในช่องปาก รวมทั้งข้อต่อขากรรไกร การทานอาหารที่มากเกินไปในนักกินก็มีโอกาสส่งผลเสียต่อระบบบดเคี้ยวทั้งหมดของเรา ไม่ใช่เพียงแค่ฟันเท่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักกินจึงอาจไม่ได้มีแค่เพียงเรื่องฟันเท่านั้น บางรายอาจมีการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ปวดข้อต่อขากรรไกร ได้ด้วย


ส่วนประเด็นที่คุณพีทบอกว่าต้องจ่ายค่ารักษารากฟันเป็นจำนวนมาก เพราะเหตุจากการเป็นนักกิน ทำให้ต้องหยุดพักการเป็นนักกินไปก่อน หมอสันนิษฐานว่าอาจมีปัญหาฟันผุ แตก หัก หรือสึก จนทะลุโพรงประสาทฟันหลายซี่ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษารากฟันเป็นจำนวนมาก


เมื่อกล่าวถึงการรักษารากฟัน อยากจะขอเล่าคร่าวๆ ให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายๆ ว่า การรักษารากฟันคือ การกำจัดเชื้อโรคออกจากโพรงประสาทฟันแล้วอุดคลองรากฟันด้วยวัสดุอุดคลองราก โดยปกติแล้วถ้ามีการสูญเสียโครงสร้างของฟันซึ่งอาจจะมาจากฟันผุ บิ่น แตก หรือสึก ไปถึงแค่ชั้นเนื้อฟัน เราสามารถรักษาโดยการอุดฟันได้ แต่ถ้าการผุ แตก บิ่น สึกที่ว่า ร้ายแรงจนไปถึงส่วนของโพรงประสาทฟัน แล้วผู้ป่วยต้องการจะเก็บฟันเอาไว้ ไม่อยากถอน ก็ต้องให้ทันตแพทย์เป็นผู้ประเมินว่า สามารถรักษารากฟันได้หรือไม่ (โดยหลังรักษารากฟัน อาจต้องมีการใส่เดือยฟันและครอบฟันอีก เพื่อบูรณะฟันที่รักษารากฟันแล้วสามารถใช้งานได้ดี) ในบางครั้งถ้ามีการสูญเสียเนื้อฟันไปมาก ไม่มีเนื้อฟันเหลือเพียงพอที่จะบูรณะหลังรักษารากฟันต่อไปได้ ก็อาจไม่สามารถรักษารากฟันได้ การรักษารากฟัน รวมทั้งการบูรณะฟันด้วยเดือยฟันและครอบฟันภายหลังการรักษารากฟัน เป็นขั้นตอนการรักษาที่สามารถเก็บฟันไว้ในช่องปากได้ แต่มีขั้นตอนการรักษาที่ยุ่งยากกว่าการอุดฟัน ใช้เวลามากกว่า บางครั้งจำเป็นต้องใช้ทันตแพทย์เฉพาะทางในการดูแลรักษา ซึ่งก็ทำให้เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายด้วย


นอกจากนี้ ถ้าไม่รักษาฟันที่ผุ แตก สึก ไปจนทะลุโพรงประสาทฟันไม่ว่าจะด้วยการถอน หรือรักษารากฟันวิธีใดวิธีหนึ่ง ก็จะเป็นช่องทางให้เชื้อโรคผ่านไปยังปลายรากฟัน กระดูกรอบรองฟัน ผ่านทางโพรงประสาทฟันที่ผุหรือแตก ทำให้โพรงประสาทฟันอักเสบ ปวดมาก หรือเกิดการบวมเป็นหนองได้


ผู้ที่เป็นนักกินจุ เป็นไปได้ว่าจำเป็นต้องมีการใช้ฟันและระบบบดเคี้ยวอย่าหนักหน่วง อาจมีปัญหาฟันแตก ฟันบิ่น หรือมีโอกาสเกิดฟันผุได้มากกว่าคนปกติ หมอขอแยกอธิบายเป็นข้อๆ ให้เข้าใจง่ายๆ ครับ


ข้อแรก โดยปกติแล้ว ช่องปากของเราจะมีสมดุลย์ของสภาพความเป็นกรด เบสอยู่ตลอดเวลา แต่ทุกครั้งหลังการรับประทานอาหาร สภาพความเป็นกรด เบสในช่องปากจะลดลง ทำให้มีความเป็นกรดมากขึ้น มีความเสี่ยงที่จะมีการสูญเสียแร่ธาตุของฟัน ยิ่งถ้าเรารับประทานอาหารบ่อยมาก มีการกินระหว่างมื้อ เช่นเป็นนักกินจุที่ต้องกินอาหารตลอดเวลา เพราะในการแข่งขันอาจต้องแข่งวันละหลายๆ รอบ เปรียบเสมือนการกินระหว่างมื้ออาหารหลายๆ รอบ สภาพภายในช่องปากก็จะมีความเป็นกรดเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าปกติ ทำให้มีความเสี่ยงที่ฟันจะผุได้ง่ายขึ้น โดยเมื่อร่วมกับกรดจากแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุได้ ซึ่งใช้อาหารที่เรารับประทานไปสร้างกรด ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะผุเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่า หมออยากเสริมว่า ไม่ใช่แค่คนที่เป็นนักกินจุเท่านั้น กรณีที่เราเป็นคนที่ชอบกินจุบจิบ กินของหวานระหว่างมื้อ ขนมระหว่างมื้อ ก็ควรต้องระวังด้วยเช่นกัน ว่าจะมีโอกาสเกิดฟันผุได้มากกว่าคนปกติที่ไม่กินอาหารระหว่างมื้อ


ข้อต่อมา การรับประทานอาหารบ่อยๆ ในนักกิน ก็อาจมีการรับประทานอาหารหลายประเภท เลือกรับประทานไม่ได้ อาจมีทั้งอาหารเปรี้ยวจัด รสจัด เครื่องดื่มที่มีความเป็นกรด หรือแข่งขันรับประทานอาหารบางอย่างที่อาจเป็นอาหารที่มีความแข็งมากกว่าปกติ ทั้งหมดนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการสึกของฟันมากกว่าคนปกติ และเมื่อฟันสึกมากจนทะลุโพรงประสาทฟัน ก็อาจต้องรักษาด้วยการรักษารากฟัน ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าอาจเป็นกรณีที่เกิดกับคุณพีท


ต่อไปคือ การเป็นนักกินบางครั้ง อาจต้องมีอาการอาเจียนเอาอาหารออกมาบ่อยๆ ทำให้ระบบการย่อยอาหารเสียไป กรดที่หลั่งออกมาจากการอาเจียนก็ส่งผลให้เกิดฟันสึกกร่อน เหมือนกับกรณีที่รับประทานอาหาร ผลไม้ที่มีรสจัด รสเปรี้ยว หรือเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรด คำว่าฟันสึกจากกรดที่ไม่ได้มาจากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุ ทางทันตแพทย์เรียกว่า erosion ซึ่งก็ทำลายฟันได้ไม่ต่างกับฟันสึกกรณีอื่นๆ หรือผุ นอกจากนี้การทำงานที่ผิดปกติของระบบย่อยอาหารในนักกิน ก็อาจทำให้นักกินป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อนได้มากกว่าคนปกติ การสำรอกเอากรดในกระเพาะออกมาจากโรคกรดไหลย้อนก็ทำให้เกิดการสึกกร่อนของฟันแบบเดียวกับที่อาเจียนออกมาได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้หมอยังเคยพบแผลในช่องปากของนักกิน ที่เกิดจากการรีบรับประทานอาหารที่ร้อนจนเกินไป เกิดเป็นแผลในช่องปากจากของร้อนเกินไป เนื่องจากต้องแข่งกินทั้งในเรื่องของเวลา และปริมาณอีกด้วย


สุดท้าย สภาวะสุขภาพในช่องปากของนักกินก่อนที่จะมาทำอาชีพนักกิน ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่าง ถ้าเดิมมีฟันผุ ฟันสึก แตก อยู่แล้ว การรับประทานอาหารมากไป บ่อยไป ก็อาจมีโอกาสที่จะทำให้มีเศษอาหารไปติดอยู่ในซอกฟันเหล่านั้นง่ายขึ้น ยิ่งถ้าไม่ได้ดูแล ทำความสะอาด แปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดให้ทั่วถึง ก็จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงที่ฟันจะผุลุกลาม ไปจากฟันผุเดิมที่มีเกิดขึ้นง่ายไปอีกด้วย รวมถึงถ้ามีฟันแตก สึกอยู่แล้ว พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ถี่ บ่อย และทุกประเภท ก็ทำให้ฟันที่เดิมแตก สึกอยู่แล้ว ยิ่งแตก สึกมากขึ้นไปอีก จนอาจลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟันได้


ดังนั้น หมอจึงอยากแนะนำคนที่เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทางด้านการกิน หรือนักกินทั้งหลายที่ต้องมีตารางการแข่งกินอาหารบ่อยมาก วันละหลายรอบ ควรที่จะรักษาสภาพฟันให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเป็นนักกิน รวมทั้งทำความสะอาดดูแลสุขภาพช่องปากอย่างเคร่งครัด แปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ ใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ (จริงๆ แล้วดูแลไม่ต่างจากการดูแลฟันทั่วไป) หมั่นตรวจสุขภาพฟันตัวเอง ว่ามีเศษอาหารติดบริเวณไหนมากขึ้นกว่าปกติ รวมทั้งตรวจฟันอย่างสม่ำเสมอกับทันตแพทย์ ทุกหกเดือน และเมื่อมีปัญหาฟันไม่ว่าจะเป็นฟันแตก บิ่น เสียวฟัน เศษอาหารติดมากกว่าปกติ มีการปวดกล้ามเนื้อใบหน้า หรือข้อต่อขากรรไกร ควรต้องรีบพบทันตแพทย์ เพื่อรักษาฟันแต่เนิ่นๆ ไม่ให้ลุกลามจนต้องเสียเวลา และค่าใช้จ่ายในการรักษามากขึ้น รวมทั้งจะทำให้นักกินทั้งหลาย สามารถใช้ระบบบดเคี้ยวเพื่อทำงานในฐานะนักกินได้ต่อไปโดยยังคงสุขภาพที่ดีของระบบบดเคี้ยวไว้ได้อีกยาวนาน


ทันตแพทย์ เฉพาะทางด้าน วิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก


หัวข้ออื่น ๆ :