เว็บไซต์ dentalcouncil.or.th มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์


การใช้งาน Cookie ของ dentalcouncil.or.th

  • เพื่อช่วยจดจำข้อมูลเกี่ยวกับเบราว์เซอร์และการตั้งค่าของท่าน และช่วยให้ท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้บริการ
  • เพื่อช่วยประเมินประสิทธิภาพและผลการให้บริการเว็บไซต์ที่ยังทำงานได้ไม่ดีและควรปรับปรุง
  • เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการเข้าเยี่ยมชมและใช้บริการเว็บไซต์

  • การใช้งานเว็บไซต์
    Cookie ทีมีความจำเป็น เพื่อประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์
    จำเป็น

ข่าวประชาสัมพันธ์

CDO องค์การอนามัยโลก ยกไทยดูแลสุขภาพช่องปากดี เป็นตัวอย่างในภูมิภาค

CDO องค์การอนามัยโลก ยกไทยดูแลสุขภาพช่องปากดี เป็นตัวอย่างในภูมิภาค




  เพื่อให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวในการผลักดันให้สุขภาพช่องปากเป็นวาระด้านสุขภาพระดับโลก องค์การอนามัยโลก (World Health organization) สำนักงานเอเชียตะวันออก-ใต้ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับ 11 ประเทศสมาชิกเพื่อแบ่งปัน เรียนรู้ และเลือกนโยบายสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค ในโอกาสพิเศษนี้ ทีม Rapporteur ไทยจาก WHO Collaborating Center for Oral Health Education and Research (คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) มองเห็นโอกาสเชื่อมโยงทันตบุคลากรไทยกับผู้นำวงการทันตกรรมระดับโลก จึงได้ขอสัมภาษณ์พิเศษ ดร.เบอนัวต์ วาแครน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทันตแพทย์จากองค์การอนามัยโลก (Chief Dental Officer; CDO) สำนักงานใหญ่ โดยบทความนี้ มีเนื้อหาครอบคลุมทิศทางของวาระสุขภาพช่องปากระดับโลก ความพยายามและผลงานของทีมแพทย์ไทย และคำแนะนำสำหรับการพัฒนาของทีมไทย 



  

  ดร.เบอนัวต์ วาแครน ได้พูดถึงทิศทางของวาระด้านสุขภาพช่องปากทั่วโลกว่า ปัจจุบันเรื่องสุขภาพช่องปากมีโมเมนตัมมากในการขับเคลื่อน ภายหลังจากประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกได้รับรองเจตนารมณ์จะให้ความสำคัญกับสุขภาพช่องปาก ในปี 2021 โดยองค์การอนามัยโลก ในฐานะตัวกลาง มีบทบาทในการพัฒนา “ยุทธศาสตร์โลก 6 ประเด็นสำหรับสุขภาพช่องปาก” “แผนปฏิบัติการด้านสุขภาพช่องปากของโลก” ตลอดจนการผลิต “รายงานสถานะสุขภาพช่องปากสำหรับประเทศต่างๆ” ซึ่งเป็นแกนในการพัฒนาและติดตามผลการพัฒนาระบบสุขภาพช่องปาก ดร.เบอนัวต์ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้านสุขภาพช่องปากสำหรับทุกคน ภายในปี 2573 และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการลดภาระของโรคในช่องปากที่ส่งผลกระทบต่อประชากรประมาณครึ่งหนึ่งของโลกในปัจจุบัน

  “มตินี้เป็นก้าวสำคัญอย่างแน่นอน เพราะมติเช่นนี้หมายความว่าประเทศสมาชิกตัดสินใจที่จะคำนึงถึงสุขภาพช่องปากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวาระสุขภาพระดับโลก”

  ดร.เบอนัวต์ ได้อธิบายว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับสุขภาพช่องปากไม่ควรถูกมองว่าเป็นสิทธิพิเศษ แต่ควรเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เขาเรียกร้องให้เพิ่มการลงทุนในบริการด้านสุขภาพช่องปากและทันตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งบริการดังกล่าวมักไม่สามารถเข้าถึงได้หรือไม่สามารถจ่ายได้ ทำให้สุขภาพช่องปากกลายเป็นส่วนของสุขภาพที่ถูกละเลยไป

  ในการสัมภาษณ์ ดร.เบอนัวต์ ยังชื่นชมประเทศไทยสำหรับความสำเร็จที่โดดเด่นในการดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาพช่องปากที่มีประสิทธิภาพ เขาชื่นชมความพยายามของประเทศในการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกัน และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้านสุขภาพช่องปาก ดร.เบอนัวต์ อธิบายว่า สำนักทันตทันตสาธารณสุขของประเทศไทยเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นๆ ทำตาม เนื่องจากมีการทำงานโดยเน้นความร่วมมือระหว่างภาคส่วนได้ดี ทั้งกำลังคนที่ทำงานสุขภาพช่องปากก็มีความหลากหลาย ตั้งแต่มืออาชีพจนถึงกำลังคนในชุมชน ในบริบทอื่นที่มิใช่ระบบบริการสุขภาพโดยตรง เขากล่าวต่อไปว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้านสุขภาพช่องปากในภูมิภาคและทั่วโลก

  “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศ Champion ในด้านกิจกรรมที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ผมคิดว่าประเทศไทย..เป็นตัวอย่างที่สำคัญมากสำหรับหลาย ๆ ประเทศในการแสดงให้เห็นว่า..การให้ความสำคัญกับสุขภาพช่องปากนั้นเป็นไปได้ และมาตรการหลายๆ อย่างก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่า”

“ข้อดีอีกประการหนึ่งคือรูปแบบกำลังคน เพราะไม่ใช่เฉพาะทันตแพทย์ในประเทศไทยเท่านั้นที่ทำการรักษาสุขภาพช่องปาก อาจเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านช่องปากคนอื่นๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพ ครู ตลอดจนฝ่ายบริหารในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด” 


  ดร.เบอนัวต์ กล่าวถึงโอกาสพัฒนาในอนาคตสำหรับวงการทันตกรรมไทย โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการหาสมดุลระหว่างมาตรการด้านสุขภาพปลายน้ำ เช่น ฟลูออไรด์วานิชและซิลเวอร์ไดอามีนฟลูออไรด์ กับมาตรการระดับต้นน้ำ เช่น นโยบายและกฎระเบียบ (ทำความเข้าใจเรื่องมาตรการต้นน้ำ-ปลายน้ำ) ว่างานการจัดการสิ่งแวดล้อม ระบบของสังคม ก็เป็นส่วนหนึ่งของงานทันตกรรมที่จะเอื้อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีได้เช่นกัน ทันตบุคลากรจึงควรมองเห็นงานตนเองให้กว้างขวางขึ้นกว่าห้องในคลินิก นอกจากนี้ เมื่อพิจารณากระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) เข้ากับวงการทันตกรรม ดร.เบอนัวต์สนับสนุนให้ทันตบุคลากรส่งข้อความที่ชัดเจนถึงวงการทันตกรรมและนักวิจัยทางวิชาการเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ทันตกรรมที่ยั่งยืนและปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีก

  “ตามปกติแล้ว ทันตแพทย์และบุคลากรทางช่องปากกำลังคิดและตั้งเป้าหมายการรักษาทางคลินิก หรือมาตรการเชิงป้องกันหรือส่งเสริมสุขภาพ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องหาสมดุลที่ดีในการทำมาตรการปลายน้ำ เช่น การให้ฟลูออไรด์รายบุคคล กับมาตรการต้นน้ำ เช่น การจัดการเรื่องการบริโภคน้ำตาลผ่านภาษีน้ำตาล เป็นต้น”

- “เราอาจจะลองคิดดูว่า..ทันตแพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพช่องปากสามารถมีบทบาทที่นอกเหนือหน้างานประจำของตนเอง หรือ กว้างไปกว่าการทำงานในวงการสุขภาพช่องปากตามปกติได้”

  นอกจากนี้ ดร.เบอนัวต์ ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาโมเมนตัมและทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับทุกคนภายในปี 2573 เขาเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ที่เราต้องจับไว้ให้แน่น ดร.เบอนัวต์ ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก องค์กรภาคีต่างๆ ในการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เขาชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปากจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน

  โดยสรุป บทสัมภาษณ์ของ ดร.เบอนัวต์ ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความสำคัญของสุขภาพช่องปาก ความจำเป็นในการยกสุขภาพระดับโลกเป็นวาระสำคัญด้านสุขภาพ ความสำเร็จของประเทศไทยในการดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาพช่องปากอย่างมีประสิทธิภาพสามารถเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นๆ ปฏิบัติตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับทุกคนภายในปี 2573

Tags: #oralhealth #universalcoverage #Thailand #sustainability #globalagenda


แหล่งข้อมูลน่าสนใจ:

Country Profile ประเทศไทย

แผนปฏิบัติการด้านสุขภาพช่องปากของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ขอขอบคุณภาพจาก องค์การอนามัยโลก (World Health organization) สำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข่าวโดย อ.ดร.ทพญ.รักษณัณน์ การเวกปัญญาวงศ์ และ พ.ต.ธนศักดิ์ ถัมภ์บรรฑุ

หากนักวิชาการท่านใด ต้องการข้อมูลถอดเทปบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม โปรดติดต่อทีมผู้เขียน 

หัวข้ออื่น ๆ :