เว็บไซต์ dentalcouncil.or.th มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์


การใช้งาน Cookie ของ dentalcouncil.or.th

  • เพื่อช่วยจดจำข้อมูลเกี่ยวกับเบราว์เซอร์และการตั้งค่าของท่าน และช่วยให้ท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้บริการ
  • เพื่อช่วยประเมินประสิทธิภาพและผลการให้บริการเว็บไซต์ที่ยังทำงานได้ไม่ดีและควรปรับปรุง
  • เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการเข้าเยี่ยมชมและใช้บริการเว็บไซต์

  • การใช้งานเว็บไซต์
    Cookie ทีมีความจำเป็น เพื่อประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์
    จำเป็น

ข่าวประชาสัมพันธ์

ยกเครื่องทันตกรรม หมอมั่นใจคนไข้ดี๊ดี

กระบวนการรับรองคุณภาพและความปลอดภัยทางทันตกรรม (Thai Dental Clinic Accreditation) หรือ “TDCA” เกณฑ์มาตรฐานระดับสากลที่ทันตแพทยสภาพัฒนาขึ้น เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการเข้ารับบริการ เป็นเรื่องใหญ่ในวงการ...“หมอฟัน”

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา ย้ำว่า กระบวนการรับรองคุณภาพและความปลอดภัยทางทันตกรรมจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ เชื่อมั่นในมาตรฐานและความปลอดภัยของวิชาชีพทันตแพทย์

ประเด็นน่าสนใจมีว่า...วันนี้ทั่วประเทศมี “คลินิกทันตกรรม” ที่ผ่านการประเมินแล้ว 64 แห่ง แบ่งเป็นภาครัฐ 54 แห่ง และเอกชนอีก 10 แห่ง... แม้ว่าตัวเลขจะดูไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนคลินิกทั้งหมด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่คลินิกแต่ละแห่งจะยกระดับตัวเองขึ้นมาให้อยู่เหนือเกณฑ์มาตรฐานที่ว่านี้

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า บริการทันตกรรมเป็นบริการทางการแพทย์ในการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน เพื่อสุขอนามัย... สุขภาพที่ดีของประชาชน การรับบริการนอกจากต้องได้รับการดูแลรักษาโดยผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมแล้ว หน่วยบริการหรือคลินิกทันตกรรมต้องมีคุณภาพและมาตรฐานด้วย 

“กรมในฐานะหน่วยงานซึ่งมีพันธกิจสำคัญในการพัฒนาด้านการแพทย์ของประเทศสู่มาตรฐาน รวมถึงบริการทันตกรรม จึงได้ร่วมกับทันตแพทยสภา ในการประเมินโครงการคลินิกทันตกรรมคุณภาพ เพื่อผลักดันคลินิกทันตกรรมของไทยสู่การรับรองกระบวนการพัฒนาคุณภาพ TDCA ที่เป็นมาตรฐานสากล”

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มองว่า การยกระดับบริการทันตกรรมในประเทศไทยด้วยกระบวนการรับรองคุณภาพและความปลอดภัยทางทันตกรรม (TDCA) เป็นการยังประโยชน์ต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในการดูแลประชาชนกว่า 48 ล้านคนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล...บริการสาธารณสุขที่จำเป็น

ครอบคลุมถึงบริการด้าน “ทันตกรรม” ซึ่งคลินิกทันตกรรมที่ผ่านการรับรองนี้ นอกจากเป็นการพัฒนาการบริการทันตกรรมในระบบให้คุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้นแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานสากล แต่ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนต่อการบริการทันตกรรมของหน่วยบริการในระบบ

“สิทธิประโยชน์ทันตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมทั้งบริการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากระดับประเทศที่ครอบคลุมประชากรทุกสิทธิทั่วประเทศ...บริการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก ทันตกรรมป้องกัน...รักษาในกลุ่มเป้าหมายหลัก รวมถึงบริการใส่ฟันเทียมให้กับผู้สูงอายุ...ภายใต้งบเหมาจ่ายรายหัว”

ควันหลงการอภิปรายกลุ่มเรื่อง “TDCA now everyone can do” หรือ “คลินิกทันตกรรมคุณภาพ ใครๆก็ทำได้” จัดโดยทันตแพทยสภาและสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทพญ.กุลยา รัตนปรีดากุล โรงพยาบาลกรุงเทพ ยืนยันว่าหัวใจสำคัญของทันตกรรมคือคุณภาพการรักษา

“ถ้าเราทำให้คลินิกมีคุณภาพ ทำให้โรงพยาบาลมีคุณภาพ แพทย์เก่งๆ หมอดีๆก็อยากจะเข้ามาทำงานกับเรา เขาอยากทำงานในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความปลอดภัย มีระบบที่เอื้อให้เขาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นหมายถึงการค่อยๆเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยคุณภาพ”

“TDCA” นับเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสำหรับทันตแพทย์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทันตแพทย์ในระดับใดก็ตาม ตั้งแต่เจ้าของคลินิกขนาดเล็กไปจนถึงผู้บริหารโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ

ในมุมมองของคลินิก ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีสเกลขนาดเล็กเมื่อเทียบเคียงกับโรงพยาบาล หากแต่การทำงานของ ทพญ.อภิญญา กุลวีระอารีย์ เขารังทันตคลินิก จ.ภูเก็ต กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น...น่าสนใจทีเดียว

คลินิกแห่งนี้มีบุคลากรกว่า 50 ชีวิต แต่ละคนมีมุมมอง ประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป และจากการทำงานพบว่าสิ่งที่ผู้เข้ารับการรักษาต้องการคือ “ความปลอดภัย ความประทับใจ และความมั่นใจ”

“เสียงสะท้อนของผู้เข้ารับการรักษาทำให้เรากลับมามองว่าต้องปรับปรุงเรื่องอะไรบ้าง อะไรที่จะตอบโจทย์ให้กับเขาได้ จึงมองหาระบบเพื่อมารองรับกระบวนการทำงาน จนทำให้รู้จักแนวทางปฏิบัติ TDCA”

กรณี...เขารังทันตคลินิก สิ่งแรกที่ได้ทำคือการนำพลาสติกใสมาแร็ปบางส่วนของยูนิตทันตกรรม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้เข้ารับการรักษา ทพญ.อภิญญา บอกว่า แรกๆที่ทำไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยความไม่คล่องบวกความคุ้นเคยว่าการปฏิบัติงานแบบเดิมรวดเร็วกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรากลับเริ่มเห็นภาพทันตแพทย์ลงมือแร็ปพลาสติกเอง นั่น
สะท้อนว่าเขาเห็นถึงความสำคัญ และในเวลาต่อมาบุคลากรที่ทำงานร่วมกันก็ขานรับแนวทาง

ที่สุดแล้ว ทุกคนก็บอกตรงกันว่าที่ทำไปเพราะรู้สึกมั่นใจในการส่งมอบบริการที่สะอาด...ปลอดภัยให้กับผู้เข้ารับการรักษาทุกราย และอีกมาตรการหนึ่งการซักประวัติคนไข้ทุกครั้งที่มารับการรักษา แม้จะดูเหมือนทำงานซ้ำซาก สร้างความรำคาญให้คนไข้ แต่มาตรการนี้จะช่วยป้องกันความเสี่ยง ข้อผิดพลาดจากการให้การรักษาได้มาก

“คนไข้มาหาเราทุกสองสัปดาห์เราต้องซักประวัติเขาใหม่ด้วยเหรอ ตอนทำๆไปในช่วงแรกคนไข้รำคาญมาก...แต่ประวัติเขาเปลี่ยนจริงๆ จากเดิมครั้งแรกที่เขาอาจบอกเราว่าเป็นแค่ความดันโลหิตสูง แต่พอผ่านไป เขาอาจบอกเรามากขึ้น ทำให้พบว่ามีโรคประจำตัว หรือภาวะ ต่างๆเพิ่มจากตอนแรก...”

นั่นย่อมหมายถึงตัว “ยา” ที่จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย หรืออีกประเด็นกรณีคนไข้ไม่ได้ให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นจริงซึ่งจะส่งผลต่อการรักษา การซักประวัติทุกครั้งทำให้เราเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ความเสี่ยงก็น้อยลง

แน่นอนว่าทุกการทำงานย่อมมีอุปสรรค เป็นความท้าทายที่เขารังทันตคลินิกต้องฝ่าฟัน เริ่มจากการสร้างความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน ถัดมา...ต้องพร้อมรับฟังผลกระทบที่เขาได้รับจากการปรับเปลี่ยน และต้องพร้อมปรับมุมมอง วิธีการให้สอดคล้องกับการทำงานของบุคลากรมากที่สุด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทพญ.ดร.สดใส วิโรจนศักดิ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสริมว่า เราได้นำแนวทาง TDCA มาปรับใช้ในมหาวิทยาลัย ซึ่งก็ใช้หลักการเดียวกันคือการชี้ประโยชน์ที่เกิดขึ้น จากการทำงานคุณภาพแก่ “บุคลากร” และ “นิสิต”

“TDCA...มีจุดเด่นคือใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย สามารถสื่อสารกับบุคลากรได้ทุกระดับ ทางมหาวิทยาลัยจึงนำเข้ามาช่วยในเรื่องของการทำงานคุณภาพ โดยเฉพาะคลินิกนิสิตทันตแพทย์ที่ยังอ่อนประสบการณ์ และโอกาสเกิดความผิดพลาดยังมีสูง ซึ่งแน่นอนว่าคนไข้อาจไม่เชื่อมั่นการรักษา การทำงานคุณภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น...เป็นประโยชน์กับทั้งตัวนิสิตและคนไข้”

คณะมีคนค่อนข้างเยอะ อาจารย์ 150 คน เจ้าหน้าที่ 150 คน นิสิต อีก 200 คน จุดที่เน้นคือเรื่องของการสื่อสาร จูงใจให้คนอยากทำงานคุณภาพ โดยต้องเข้าใจจุดเน้นของคนแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน เช่น อาจารย์ก็จะเน้นเรื่องการสอน นิสิตก็จะเน้นเรื่องเรียนให้จบ ต้องชี้ให้เห็นว่าเขาจะได้รับประโยชน์อะไรจากการทำงานคุณภาพ

อาจารย์สดใส บอกอีกว่า เกณฑ์ TDCA ในบางข้ออาจจะยาก ไม่สอดคล้องกับบริบทการทำงานจริงในมหาวิทยาลัย เช่น การถอดถุงมือทุกครั้ง ซึ่งในความเป็นจริงอาจารย์ต้องตรวจงานครั้งละไม่ต่ำกว่า 10 รอบ การถอด...ใส่ทุกครั้งอาจทำให้กระทบเรื่องงบประมาณก็ต้องมาดูว่าจุดไหนคือจุดเน้นสำคัญ ซึ่งส่วนนี้คือนิสิตที่จะต้องใส่ถุงมือเป็นหลัก ส่วนอาจารย์ก็จะลดการใช้ซ้ำให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้...ยืดหยุ่นเกณฑ์ต่างๆ แต่เกณฑ์หลักไม่เสีย

ยกเครื่อง “คลินิกทันตกรรม” บริการมีมาตรฐาน...ปลอดภัย คนไข้ก็อุ่นใจ...คุณภาพชีวิตดี๊ดี­­.

หัวข้ออื่น ๆ :