เว็บไซต์ dentalcouncil.or.th มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์


การใช้งาน Cookie ของ dentalcouncil.or.th

  • เพื่อช่วยจดจำข้อมูลเกี่ยวกับเบราว์เซอร์และการตั้งค่าของท่าน และช่วยให้ท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้บริการ
  • เพื่อช่วยประเมินประสิทธิภาพและผลการให้บริการเว็บไซต์ที่ยังทำงานได้ไม่ดีและควรปรับปรุง
  • เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการเข้าเยี่ยมชมและใช้บริการเว็บไซต์

  • การใช้งานเว็บไซต์
    Cookie ทีมีความจำเป็น เพื่อประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์
    จำเป็น

ข่าวประชาสัมพันธ์

Meth Mouth เราเป็นนักสืบได้นะ

Meth Mouth เราเป็นนักสืบได้นะ



 

  “รูม่านตาขยาย หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ขึ้น หิวน้อยลง เวียนหัว ตัวสั่น” นี่คืออาการ “ไฮ” หรือภาวะอารมณ์ทะยานขึ้นสูง จากการเสพสารเสพติดเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อของ “ยาไอซ์” แต่รู้ไหมว่าการเสพยาไอซ์ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพช่องปากของผู้เสพบ้าง?

   “Meth mouth” หรือ “Crank decay” คือชื่อเรียกของสภาวะการเกิดฟันผุ ร่วมกับการเกิดโรคเหงือกอย่างรุนแรงในผู้ป่วยที่มีการใช้สารเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) ซึ่งเป็นสารเสพติดที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทั้งยังทำลายสมองอย่างถาวร และยังอาจส่งผลร้ายต่อสภาวะในช่องปากอื่น ๆ อีกด้วย ทันตแพทย์จึงมีบทบาทสำคัญเสมือนนักสืบในการค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก ซึ่งจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างละเอียดในอาการ ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะนี้ และวิธีการรักษาที่เหมาะสม ความรู้และความเข้าใจนี้จะช่วยให้ทันตแพทย์สามารถฟื้นฟูและดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยได้อย่างครบวงจรและรวมถึงสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วยอีกด้วย



   จากการศึกษาในปี ค.ศ. 2015 สนับสนุนโดย The National Institute on Drug Abuse ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมทันตแพทย์อเมริกัน ได้สำรวจช่องปากของผู้ใช้สารเมทแอมเฟตามีน 571 คน ร้อยละ 96 พบฟันผุ ร้อยละ 58 พบฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษา และร้อยละ 31 มีฟันหายไป 6 ซี่หรือมากกว่า สภาพฟันที่พบมักมีสีดำ เป็นคราบ เนื้อยุ่ย เคลือบฟันกร่อน มีรอยผุ โยกคลอน มักจะไม่สามารถบูรณะได้ และต้องถอนทิ้งไปในที่สุด การเกิดสภาวะข้างต้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาร่วมกับด้านจิตใจอันเนื่องมาจากการเสพสารดังกล่าว ทำให้เกิดสภาวะปากแห้งและไม่สามารถดูแลช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพของผู้เสพ ลักษณะอื่น ๆ ที่พบได้อาทิ การเค้นฟัน (clenching) การนอนกัดฟัน (bruxism) กล้ามเนื้อบดเคี้ยวหดเกร็ง (muscle trismus) และกรามค้าง (lockjaw)

   จวบจนปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาใดอธิบายหรือพิสูจน์กลไกการเกิด Meth mouth กับการเสพสารเมทแอมเฟตามีนได้อย่างครบถ้วน มีเพียงรายงานผู้ป่วย (case report) และการศึกษาขนาดเล็ก งานวิจัยในปัจจุบันจึงมุ่งเน้นไปที่การศึกษากลไกทางพยาธิสรีรวิทยาของการเกิด Meth mouth เป็นหลัก Rommel และคณะ ได้ทำการศึกษาอัตราการไหลของน้ำลาย ปริมาณการผลิตน้ำลาย และภาวะความเป็นกรดในน้ำลาย รวมถึงอาการนอนกัดฟัน (การสึกของฟัน, รอยร้าวบนเคลือบฟัน, การโผล่ของเนื้อฟัน) และการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ในผู้เสพสารเมทแอมเฟตามีนเป็นระยะเวลานานจำนวน 100 คน พบว่าผู้ที่เสพสารจะมีอัตราการไหลและปริมาณน้ำลายลดลง ภาวะความเป็นกรดเพิ่มสูงขึ้น และพบอาการนอนกัดฟันเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดฟันผุลุกลามและลักษณะสภาพ Meth mouth อย่างที่ได้กล่าวมาในข้างต้น ในอีกการศึกษาโดย Ravenel และคณะ ทำการศึกษาในลักษณะคล้ายกันในจำนวนผู้เสพจำนวน 28 คน กลุ่มควบคุม 16 คน พบว่าในน้ำลายผู้ที่เสพสารเมทแอมเฟตามีนมีค่าความเป็นกรดมากกว่าและอำนาจต้านความเปลี่ยนแปลงสภาพทางกรด/ด่าง (buffer capacity) น้อยกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่พบความแตกต่างในเรื่องอัตราการไหลของน้ำลาย ในอีกแง่หนึ่ง Rommel และคณะได้ทำการศึกษาปัจจัยอื่นๆ และผลกระทบที่ส่งผลต่อสุขภาพช่องปากในผู้ใช้สารเสพติดเมทแอมเฟตามีนเป็นระยะเวลานานจำนวน 100 คน เรื่องเศรษฐสถานะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้สารเสพติดดังกล่าว โดยพบว่าในคนที่มีเศรษฐสถานะที่ไม่มั่นคง จะพบการใช้สารเสพติดมากกว่าในกลุ่มที่มั่นคง ในอีกหลาย

   การศึกษายังพบว่าระยะเวลาการเสพสารเมทแอมเฟตามีนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนซี่ฟันผุที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าระยะเวลา 4 ปีเป็นจำนวนปีที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด Meth mouth อย่างมีนัยยะสำคัญ

   เราสามารถจัดการกับ Meth mouth ได้หรือไม่ ? Hamamoto และ Rhodus ได้สรุปรายงานจากหลายการศึกษาพบว่าการเลิกเสพสาร เป็นวิธีการรักษาและป้องกันการเกิด Meth mouth ที่สำคัญที่สุด ในทำนองเดียวกัน Wang และคณะ ชี้ว่าการหยุดเสพสารเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรทำ พร้อมกับวางแผนการรักษาทางทันตกรรมที่ไม่ซับซ้อน ใช้ระยะเวลาสั้นๆ และควรดูแลสุขภาพช่องปากอย่างเข้มงวดหลังการรักษา จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ

   โดยสรุป มีรายงานผู้ป่วยหลายรายงานที่ศึกษาสภาวะทางช่องปากที่เกิดจากการใช้สารเมทแอมเฟตามีน ทำให้เกิดโรคฟันผุและโรคเหงือกรุนแรง การศึกษาในอดีตได้แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้สารเสพติดแบบนี้มีแนวโน้มที่จะพบฟันผุและฟันที่หายไปมากกว่าผู้ที่ไม่ใช้ แต่การศึกษาครั้งใหม่ๆ ยังพยายามค้นหากลไกที่ชัดเจนของวิธีการที่สารเมทแอมเฟตามีนทำให้เกิดสภาวะ "Meth mouth" นี้ โดยทันตแพทย์มีบทบาทสำคัญในการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพช่องปากของผู้ป่วย เรื่องเศรษฐสถานะและระยะเวลาการเสพสารเมทแอมเฟตามีนยังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อการเกิด Meth mouth ด้วย อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจในโรคนี้และการรักษาที่เหมาะสมยังต้องการการศึกษาและการวิจัยเพิ่มเติมอยู่อีกมาก

เขียนโดย..ทันตแพทย์หญิงรจิต จันทร์ประสิทธิ์

ทันตแพทย์หญิงเบญจมาภรณ์ รังษีภาณุรัตน์


แหล่งที่มาของภาพ  https://www.mouthhealthy.org/all-topics-a-z/meth-mouth

                                 https://en.wikipedia.org/wiki/Meth_mouth

เอกสารอ้างอิง

Pabst A, Castillo-Duque JC, Mayer A, Klinghuber M, Werkmeister R. Meth Mouth-A Growing Epidemic in Dentistry? Dent J (Basel). 2017 Oct 30;5(4):29. doi: 10.3390/dj5040029. PMID: 29563435; PMCID: PMC5806971.


Rommel N, Rohleder NH, Wagenpfeil S, Haertel-Petri R, Kesting MR. Evaluation of methamphetamine-associated socioeconomic status and addictive behaviors, and their impact on oral health. Addict Behav. 2015 Nov;50:182-7. doi: 10.1016/j.addbeh.2015.06.040. Epub 2015 Jun 26. PMID: 26151583.


Rommel N, Rohleder NH, Wagenpfeil S, Härtel-Petri R, Jacob F, Wolff KD, Kesting MR. The impact of the new scene drug "crystal meth" on oral health: a case-control study. Clin Oral Investig. 2016 Apr;20(3):469-75. doi: 10.1007/s00784-015-1527-z. Epub 2015 Jul 15. PMID: 26174081.


Hamamoto DT, Rhodus NL. Methamphetamine abuse and dentistry. Oral Dis. 2009 Jan;15(1):27-37. doi: 10.1111/j.1601-0825.2008.01459.x. Epub 2008 Sep 25. PMID: 18992021.


Wang P, Chen X, Zheng L, Guo L, Li X, Shen S. Comprehensive dental treatment for "meth mouth": a case report and literature review. J Formos Med Assoc. 2014 Nov;113(11):867-71. doi: 10.1016/j.jfma.2012.01.016. Epub 2012 Jun 9. PMID: 25443354.


Ravenel MC, Salinas CF, Marlow NM, Slate EH, Evans ZP, Miller PM. Methamphetamine abuse and oral health: a pilot study of "meth mouth". Quintessence Int. 2012 Mar;43(3):229-37. PMID: 22299123.

หัวข้ออื่น ๆ :