รถทันตกรรมเคลื่อนที่ ความหวังใหม่ของวงการทันตกรรม
รถทันตกรรมเคลื่อนที่ ความหวังใหม่ของวงการทันตกรรม
“ทันตกรรมเคลื่อนที่..ดีกว่าทันตกรรมในที่ตั้ง ตรงที่เข้าไปถึงในชุมชนที่ปกติเข้าไม่ถึงบริการทันตกรรมได้
และประหยัดเงินค่าเดินทางให้แก่ผู้รับบริการ”
ปัญหาสุขภาพช่องปากไม่ได้กระจายตัวปกติสวยงามแบบ “หารเท่า” แต่ “กระจุกตัว” ในคนบางกลุ่มมากเป็นพิเศษ ตัวอย่างเด็ก 3 ขวบ กว่าครึ่งของเด็กผุไม่เกิน 1 ซี่ แต่เด็กกลุ่มเล็กๆ กลับมีจำนวนฟันผุสูงมากจนดึงค่าเฉลี่ยช่วงวัยขึ้นไปอยู่ที่ราว 2.7 ซี่/คน ในการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 8 (ทรงชัย ฐิตโสมกุล และคณะ, 2566) ในขณะที่ด้านสวัสดิการสุขภาพของรัฐ ที่ควรจะโอบอุ้มชดเชยความเหลื่อมล้ำของสุขภาพ แต่กลับดูเหมือนว่าคนบางกลุ่ม เช่น คนไม่มีสิทธิ์การรักษา คนจน และคนแก่ จะเข้าบริการทันตกรรมน้อยกว่าคนอื่นๆ (ธีรวัฒน์ ทัศนภิรมย์และคณะ, 2562) แล้วถ้าระบบจะปรับตัวเพื่อดูแล “ความเป็นธรรม” ในการเข้าถึงบริการทันตกรรมมากขึ้น การกระจายบริการลงไปใกล้ตัวคนถึง รพ.สต. แบบเป็นทันตกรรม “ในที่ตั้ง” อย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่??
วันนี้ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรจะพาทุกท่านไปล้วง แคะ แกะประสบการณ์การเป็นผู้นำนวัตกรรมบริการทันตกรรมรูปแบบใหม่ “รถทันตกรรมเคลื่อนที่” ที่ปกติมีแต่ภาครัฐทำ แต่ครั้งนี้ทันตแพทย์ภาคเอกชนลงมาเปิดตลาดเอง การบริการรูปแบบใหม่นี้จะเพิ่มความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการทันตกรรมได้หรือไม่ แล้วจะตอบโจทย์การอยู่ได้ทางธุรกิจของภาคเอกชนได้หรือเปล่า?? การทำทางครั้งนี้ เจออุปสรรคอะไรที่ยังรอวิชาชีพมาช่วยกัน ติดตามอ่านกันได้เลยในบทความนี้..
เราได้รับเกียรติจากหมอชวน ทันตแพทย์ชวนันท์ องค์ชวลิต เจ้าของรถทันตกรรมเคลื่อนที่ผูกกับคลินิกทันตกรรมในพื้นที่อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งนับเป็นหนึ่งในรถบริการทันตกรรมภาคเอกชนเพียง 5 รายทั้งประเทศ โดยตั้งเเต่ประกาศกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เรื่อง มาตรฐานรถทันตกรรม ในช่วงปี 2561 (ยกเลิกแล้ว และประกาศ สบส. ฉบับใหม่ 2564 แทน) จนบัดนี้มีบริการที่เชียงใหม่ 1 คลินิก จำนวน 2 คันเเละ 1 คลินิกในกรุงเทพฯ อีก 3 คัน คุณหมอชวนเล่าว่า “ถึงเเม้จะเริ่มกันไม่กี่รายเเต่ผู้เกี่ยวข้องก็ตั้งใจจะทำให้เกิดบริการที่มีคุณภาพเเละเตรียมเปิดสมาคมรถบริการทันตกรรมเเห่งประเทศไทยในปีนี้ครับ”
เริ่มคิด - แรงบันดาลใจอะไรและความคาดหวัง คุณหมอชวน เล่าถึงความสนใจมาทำรถทันตกรรมเคลื่อนที่ว่า “เพื่อนผมที่เป็นเจ้าของโรงงานแถวสมุทรสาครครับ เพื่อนชวนผมคิดว่า…การทำฟันเป็นสิทธิ์ด้านสุขภาพของผู้ประกันตนที่มักจะไม่ค่อยได้ใช้กันและเป็นสวัสดิการที่เจ้าของโรงงานสามารถส่งมอบให้พนักงานผ่านงบของกองทุนประกันสังคมที่ทั้งนายจ้างเเละลูกจ้างร่วมกันสมทบ และยังสามารถให้บริษัทเอกชนใช้งบ CSR สปอนเซอร์การออกหน่วยบริการยังชุมชนที่ใกล้บริษัทได้ด้วย เลยคิดว่าได้ช่วยให้คนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสทางธุรกิจด้วย”
เริ่มทำ
เมื่อเริ่มเห็นโอกาสจัดทำรูปแบบบริการนี้แล้ว ลงทุน คน เงิน ของ และระบบ เป็นอย่างไรบ้าง?
“ผมสั่งทั้งรถเเละระบบมาจากจีนครับเเละต้องมาปรับเพิ่มเนื่องจากมีการระบาดของโควิดรถบัสบริการทันตกรรมของผม มียูนิตทันตกรรม 2 ยูนิต ลักษณะการออกบริการ จะประกอบด้วยทันตแพทย์ 2 คน
ผู้ช่วย 2 คน พนักงานขับรถ เราจะเตรียมอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อการบริการคนไข้วันละไม่เกิน 50 คน โดยเปิดบริการช่วง 8.00-17.00 น. เราไม่ได้ล้างเเละสเตอร์ไรด์ในรถครับ เครื่องมือที่ใช้เเล้วจะถูกนำกลับมาล้างอบที่คลินิก ส่วนระบบข้อมูลจะถูกบันทึกบนกระดาษเเละนำมาคีย์ช่วงเย็นเช่นกันครับ งบประมาณส่วนรถเเละครุภัณฑ์รวมแล้วประมาณ 8,300,000 บาท เพื่อนผมร่วมหุ้นด้วยครับ”
เริ่มทบทวน
คุณหมอมองว่าจากประโยชน์ที่ได้ทั้งต่อธุรกิจ, วิชาชีพและสังคม เป็นอย่างไรบ้าง?
ผมออกไปทำฟันที่โรงงานเพื่อนด้วยตนเอง เเละพบว่ามีลูกจ้างไม่น้อยที่ไม่เคยทำฟัน มีคนไข้ที่ทนปวดฟันมาสามสี่เดือนเเละดีใจมากที่ได้ถอนฟัน ในด้านระบบการจัดการ หลังจากลงทุนไปในช่วงแรกสามารถรักษาและคีย์เบิกจ่ายตรงจากสำนักงานประกันสังคมได้ สภาพคล่องทางการเงินก็เป็นไปได้เรื่อยๆ แต่ในระยะหลังติดเงื่อนไขเชิงกฎหมายของสำนักงานประกันสังคมเอง จึงมีการให้ปรับวิธีการมาเป็นให้ผู้ป่วยจ่ายค่ารักษาก่อน แล้วค่อยนำใบเสร็จไปเบิกในภายหลัง ซึ่งรูปแบบการจ่ายนี้ ทำให้ผู้ประกันตนต้องคิดหนักมากขึ้น ว่าจะยอมสละเงินสำหรับจ่ายค่ารักษาทางทันตกรรมก่อนหรือไม่ อย่างไรก็ดี แม้ในมุมส่วนตัวยังพบว่าขลุกขลักพอสมควร ด้วยว่าเป็นของนวัตกรรมใหม่ที่กฎหมายและการติดตามดูแลยังไม่มีกรอบรองรับ แต่สำหรับวิชาชีพ ผมว่าเป็นเรื่องท้าทายเเละเป็น Blue Ocean ที่เราจะได้เปิดบริการในรูปแบบใหม่ๆ
ปัญหาที่พบคืออะไร
ปัญหาที่พบหลักๆ พอจะขมวดเป็น 3 เรื่องดังนี้ครับ
1. รถบริการทันตกรรมเป็นเรื่องใหม่ คนยังไม่รู้จัก ดังนั้นผมไปที่โรงงานมีพนักงาน 300 คน มีคนมาทำฟันเพียงร้อยกว่าคน ด้วยกลัวเจ็บ ไม่รู้จัก และบางส่วนได้ไปใช้สิทธิ์ทันตกรรมที่คลินิกบ้างเเล้ว แต่พอทำไปเเล้วรอบหนึ่ง เจ้าของโรงงานมาแจ้งว่าพนักงานกลับไปพูดกันปากต่อปากเเละถามหาการทำฟันด้วยรถบริการ เขาทราบเเล้วว่ามันสบายอยู่ในระบบปรับอากาศ มียูนิตเช่นเดียวกับคลินิกทันตกรรม แถมใช้เวลาสั้นๆ ไม่ต้องลางาน หรือ การไปดีลกับโรงงานเป็นครั้งๆ ทางโรงงานก็ไม่นับการลงมาทำฟันเป็นช่วงขาดงาน ส่วนในด้านธุรกิจ กลุ่มผู้ประกอบการก็รู้สึกว่าเป็นการดูแลลูกจ้างของตัวเอง และเป็นชื่อเสียงเวลาอยู่ในวงธุรกิจของพื้นที่
2. การเบิก สำนักงานประกันสังคมให้เบิกในรอบเเรก จากนั้นเเจ้งว่าหากจะให้บริการผ่านรถบริการทันตกรรมผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเอง
ซึ่งเมื่อหันไปมองสภาพผู้ใช้เเรงงานจะทราบว่า 900 เป็นเรื่องใหญ่ของเขา ต้องเตรียมไปใช้เลี้ยงครอบครัว (หลายคนทำงานเพื่อส่งเงินกลับบ้านต่างจังหวัด)
3. ด้านระบบมาตรฐานคุณภาพบริการ ผมรู้สึกตอนนี้มีแต่เกณฑ์ขั้นต่ำในการขออนุญาตรถทันตกรรม แต่ในด้านการปฏิบัติของรถทันตกรรมเคลื่อนที่ซึ่งมีบริบทต่างจากบริการในที่ตั้ง ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเขน ยกตัวอย่างเช่นการกำจัดของเสียหากทันตแพทยสภามีการทำมาตรฐานเพื่อรองรับการจัดบริการ ทันตกรรมลักษณะหน่วยเคลื่อนที่นี้ น่าดีครับ สมาคมที่กำลังจะเปิดจะได้นำเเนวทางไปใช้ได้อย่างมั่นใจ ประชาชนได้ประโยชน์ครับ
สรุป
โดยรวมแล้วรถทันตกรรมเอกชนเคลื่อนที่ นับเป็นการบริการทันตกรรมรูปแบบใหม่ที่อาจเป็นความหวังใน 3 มิติ
มิติแรก คือ ประชาชนในเมืองบางกลุ่มที่ปกติเข้าถึงบริการทันตกรรมได้น้อย ถึงแม้จะมีสถานพยาบาลของรัฐ และคลินิกเอกชน อาทิ กลุ่มผู้ใช้เเรงงานตามโรงงาน นักเรียนในกทม. ผู้ยากไร้
มิติที่สอง คือ มีรูปแบบบริการทันตกรรมที่มีคุณภาพ ที่แก้ปัญหาการเข้าถึงบริการได้ ทดแทนหมอกระเป๋าที่ให้บริการแล้วเกิดอันตรายต่อสุขภาพประชาชน ในยุคสมัยที่ delivery system เป็นส่วนหนึ่งของงานบริการต่างๆ
ท้ายที่สุด คือ ความหวังในเชิงธุรกิจ รถบริการทันตกรรมเอกชนสามารถเพิ่มโอกาสทางธุรกิจแก่ทันตบุคลากร
อย่างไรก็ตามยังพบอุปสรรคในด้านข้อกฎหมายของผู้บริหารกองทุนที่ยังตามไม่ทันเทคโนโลยี ทำให้ไม่สามารถกำหนดวิธีจ่ายเงินที่สร้างแรงจูงใจให้ฝั่งผู้รับบริการและผู้บริการอยากจัดบริการ ความคาดหวังสามารถถูกส่งผ่านไปยังการจัดตั้งสมาคมรถทันตกรรมเคลื่อนที่ที่จะมีการเปิดตัวในปีนี้ ช่วยเป็นตัวแทนเจรจาเพื่อปรับกลไกเชิงระบบหลายๆ อย่างให้เอื้อต่อผลักดันการให้บริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ ทั้งในแง่การเข้าถึง การคุ้มครองทางการเงิน และคุณภาพ-ความปลอดภัยบริการ
บทความโดย
ทพญ.แพร จิตตินันทน์
พ.ต.ธนศักดิ์ ถัมภ์บรรฑุ
ข้อมูลอ้างอิง
Vashishtha V, Kote S, Basavaraj P, Singla A, Pandita V, Malhi RK. Reach the unreached - a systematic review on mobile dental units. J Clin Diagn Res. 2014 Aug;8(8):ZE05-8. doi: 10.7860/JCDR/2014/8688.4717. Epub 2014 Aug 20. PMID: 25302288; PMCID: PMC4190815.
Tussanapirom T, Panichkriangkrai W, Vongmongkol V. Equity in Utilization of Oral Health Services among Thai Population: Results from Health and Welfare Survey 2017. Journal of Health Systems Research 2019;13(3):271-83. (https://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/5111/hsri-journal-v13n3-p271-283.pdf?sequence=1&isAllowed=y)
ทรงชัย ฐิตโสมกุล, วรางคนา เวชวิธี, กรกมล นิยมศิลป์, สุณี วงศ์คงคาเทพ, สุกัญญา เธียรวิวัฒน์. (2566). Trends in oral health status, behaviors and risk factors of Thai people in 2007-2017 (นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการประสานและพัฒนาระบบสุขภาพช่องปากสำหรับประเทศไทย) (https://1drv.ms/b/s!AjrEmVb_jvrEhpgcENd98ip2oHVF6Q?e=o72ssP)