Amalgam อันตรายจริงหรือ?
Amalgam อันตรายจริงหรือ?
จากกรณีที่ influencer ท่านหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์ว่า ตรวจเลือดพบสารปรอทและตะกั่วจากการอุดฟันด้วยวัสดุอะมัลกัม รวมถึงได้อ้างว่าสมาคมทันตแพทย์ทั่วโลกได้ยอมรับว่าการอุดอะมัลกัมทำให้สารทั้ง 2 เข้าสู่เลือดมากกว่าปกติ ซึ่งโพสต์ดังกล่าวมีการแชร์ไปกว่า 150 ครั้งนั้น ทันตแพทยสภาได้รับข่าวสารจากสมาชิกขอให้มีการชี้แจงจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด (Misinformation) ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเลือกรับบริการและสุขภาพของประชาชนในท้ายที่สุด
วันนี้ ทีมประชาสัมพันธ์ จึงไปขอความกระจ่างจากผู้เชี่ยวชาญ สาขาทันตกรรมหัตถการ ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการอุดฟันและวัสดุ รวมถึงยังเป็นนายกสำรอง ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งทำงานอย่างใกล้ชิดในการขับเคลื่อนนโยบายด้านอะมัลกัม กับ World Dental Federation (FDI)
รศ.ดร.ทพญ.ศิริวิมล ศรีสวัสดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ สาขาทันตกรรมหัตถการ ได้กล่าวโดยสรุปว่า “กรณีดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน จนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถหาข้อสรุปและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เด่นชัดหนักแน่นและเป็นที่ยอมรับได้ว่าอะมัลกัมส่งผลเสียต่อสุขภาพ หลักฐานที่แสดงการเชื่อมโยงว่าอะมัลกัมมีผลกระทบต่อสุขภาพนั้นค่อนข้างอ่อน จึงอาจกล่าวสรุปโดยกว้างๆ ว่า การใช้วัสดุอะมัลกัมบูรณะฟันนั้นไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ต่อสุขภาพ หรือผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ทางร่างกายต่อผู้ป่วย แต่ต้องพึงตระหนักว่า มีการพบการตอบสนองเฉพาะที่ (local adverse effects) ได้บ้าง แต่ไม่มากนัก และสามารถจัดการรักษาได้โดยไม่ยุ่งยาก ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่ควรกรอรื้ออะมัลกัมที่มีสภาพทางคลินิกดีๆ ออกจากฟันผู้ป่วย ยกเว้น ในกรณีที่ผู้ป่วยนั้นได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้อะมัลกัมหรือองค์ประกอบของอะมัลกัม”
สำหรับทันตบุคลากรที่ทำงานอยู่กับอะมัลกัม รศ.ดร.ทพญ.ศิริวิมล ได้ให้สัมภาษณ์ต่อว่า “เป็นที่ยอมรับว่าบุคลากรทันตกรรมได้รับสารปรอทมากกว่าคนทั่วไปเพราะเป็นการได้รับเนื่องจากสายอาชีพ อย่างไรก็ดี เมื่อตามไปถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ได้พบว่ามีความแตกต่างไปจากประชากรทั่วไป อย่างไรก็ดี มาตรการระมัดระวังการใช้สารปรอทที่ใช้ในผู้ป่วย ควรนำมาใช้กับทันตบุคคลากรด้วยเช่นกัน และเพื่อเป็นการลดการใช้สารปรอทลงเพื่อตอบสนองต่ออนุสัญญามินามาตะในการลดสารปรอทสู่สิ่งแวดล้อม อาจกล่าวได้ว่าในการพิจารณาบูรณะฟันเป็นครั้งแรกในเด็ก และการบูรณะฟันในสตรีมีครรภ์ อาจพิจารณาใช้วัสดุทางเลือกเป็นลำดับแรก และการตัดสินใจนี้ต้องแจ้งให้ผู้ป่วย และ/หรือ ผู้ปกครองได้รับทราบด้วย วัสดุทางเลือกเองก็มีองค์ประกอบเป็นสารเคมีหลากหลายชนิด องค์ความรู้เรื่องความเป็นพิษและผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ควรได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเช่นกัน”
ท้ายที่สุดนี้ รศ.ดร.ทพญ.ศิริวิมล ได้ฝากว่า ประเด็นอะมัลกัมมีรายละเอียดอีกมากและต้องอธิบายด้วยหลักการทางวิชาการอย่างละเอียด การตอบสั้นๆ อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ จึงแนะนำให้อ่านข้อมูลสรุปฉบับเต็มที่เว็บไซต์ ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ จะทำให้ท่านเกิดความเข้าใจมากขึ้นและได้รับทราบข้อมูลทางวิชาการที่ค่อนข้างครบถ้วน และหากมีข้อสงสัยใดๆ สามารถถามเข้ามาที่เพจ Thai Dental Council ของทันตแพทยสภา หรือ ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ได้เลย
ด้าน ผศ.ดร.ทพ.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา ได้กล่าวถึงประเด็นสุดท้ายที่กล่าวว่า “หมอฟันสนใจแต่การรักษาฟันแบบแยกส่วน โดยไม่สนใจ ผลกระทบสุขภาพในภาพรวม” ว่า “รู้สึกกังวลต่อการกล่าวเช่นนี้ เพราะกว่าจะมาเป็นแนวทางการรักษาที่ยอมรับปฏิบัติกันทั่วโลก ล้วนผ่านการพิจารณาประโยชน์เปรียบเทียบกับความเสี่ยงหรือผลกระทบสุขภาพมาแล้วด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทั้งยังมีการกำหนดมาตรการกำกับดูแล แนวทางปฏิบัติของหลายภาคส่วน การเลือกเสนอวัสดุที่เหมาะสมกับภาวะปัญหาฟันผุของผู้ป่วยแต่ละราย จึงตั้งอยู่บนหลักการประโยชน์สูงสุดของประชาชนในมิติผลลัพธ์การรักษา คุณภาพและราคาที่ผู้ป่วยพึงได้รับ และขณะนี้ เราก็มุ่งทำเรื่อง phase down ของอะมัลกัม เพราะคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงขอให้ประชาชนอุ่นใจว่า วิชาชีพทันตกรรมจะทบทวนและปรับปรุงวิธีการทำงานของเราอยู่เสมอให้สามารถดูแลสุขภาพช่องปาก สุขภาพองค์รวม และสุขภาพของสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อมๆ กัน”