เว็บไซต์ dentalcouncil.or.th มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์


การใช้งาน Cookie ของ dentalcouncil.or.th

  • เพื่อช่วยจดจำข้อมูลเกี่ยวกับเบราว์เซอร์และการตั้งค่าของท่าน และช่วยให้ท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้บริการ
  • เพื่อช่วยประเมินประสิทธิภาพและผลการให้บริการเว็บไซต์ที่ยังทำงานได้ไม่ดีและควรปรับปรุง
  • เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการเข้าเยี่ยมชมและใช้บริการเว็บไซต์

  • การใช้งานเว็บไซต์
    Cookie ทีมีความจำเป็น เพื่อประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์
    จำเป็น

ข่าวประชาสัมพันธ์

ทันตแพทย์ นิติทันตวิทยา และเรือหลวงสุโขทัย

ทันตแพทย์ นิติทันตวิทยา และเรือหลวงสุโขทัย


“คนไข้ที่เสียชีวิตครั้งนี้ มีคนไข้ที่พี่เคยทำฟันให้เขาด้วย พี่เคยเห็นเขาตั้งแต่เป็นเด็กชายน่ารัก เป็นเด็กที่ทำฟันง่าย 

และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่พี่พยายามตามล่าหาข้อมูลด้านทันตกรรมให้กับทุกคนที่ประสบเหตุในครั้งนี้”

                                                                                                                                        น.อ.หญิง จิรวัฒน์ กฤษณพันธ์ 

     ปลายปี 2565 ที่ผ่านมาเป็นอีกช่วงเวลาที่สะเทือนหัวใจคนไทย ภายหลังมีการเผยแพร่ข่าวเรือหลวงสุโขทัย แห่งราชนาวีไทย ได้อับปางลงในพื้นที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยยังมีกำลังพลสูญหายราว 29 นาย โดยมีการค้นหาทั้งทางน้ำและทางอากาศ เมื่อวันเวลาผ่านไป เริ่มมีการพบร่างผู้เสียชีวิต กองทัพเรือได้รับการประสานจากทีมตำรวจในพื้นที่ให้จัดเตรียมข้อมูลทันตกรรมของผู้สูญหายทั้งหมดไว้ เพื่อใช้ในการยืนยันตนผู้เสียชีวิตที่กู้ร่างขึ้นมาได้ ศูนย์ทันตกรรม กรมแพทย์ทหารเรือ จึงประสาน สธ. และทันตแพทยสภา ระดมสรรพกำลังเพื่อค้นหาข้อมูลทันตกรรม (ไทม์ไลน์การดำเนินการของวิชาชีพทันตกรรม) จนถึงวันที่ 13 มกราคม 2566 พบร่างจำนวน 24 ร่าง โดยในจำนวนนี้สามารถระบุตัวตนด้วยข้อมูลทันตกรรมได้จำนวนทั้งสิ้น 9 ร่าง
    

     เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลับมาเตือนย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของงานนิติทันตวิทยา ที่ทันตแพทย์ในพื้นที่สามารถเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความยุติธรรม หรือ พาร่างของคนที่รักกลับสู่อ้อมกอดของญาติพี่น้องได้ ฉะนั้น เพื่อเก็บบันทึกเรื่องราวและถอดบทเรียนสำหรับการเตรียมความพร้อมของวิชาชีพทันตกรรม ทันตแพทยสภาจึงได้สัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ถึงความรู้สึกต่อเหตุการณ์ หน้าที่ที่ทันตแพทย์แต่ละภาคส่วนได้ทำ บทเรียนและข้อเสนอแนะต่อวิชาชีพทันตกรรมและสังคมกรณีเกิดเหตุอุบัติภัยหมู่ในอนาคต

จากใจหมอฟันทหารเรือ

 

     น.อ.หญิง จิรวัฒน์ กฤษณพันธ์ รองผู้อำนวยการศูนย์ทันตกรรม กรมแพทย์ทหารเรือ ในฐานะ Point of Contact (POC) ด้านข้อมูลทันตกรรมก่อนเสียชีวิต (Ante-mortem) ได้ให้ข้อมูลว่า “ในความคิดพี่ คนในกองทัพเรือเสียใจกับเหตุการณ์ครั้งนี้มาก แบบประเมินความรู้สึกไม่ได้ ไม่มีใครคิดว่าจะมีเหตุแบบนี้ และมันเป็นบทเรียนที่มีราคาแพง คิดเป็นตัวเลขไม่ได้ที่กองทัพเรือจะต้องจดจำ และเป็นประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือไทยที่จำกันไปอีกนาน คนไข้ที่เสียชีวิตครั้งนี้ มีคนไข้ที่พี่เคยทำฟันให้เขาด้วย พี่เคยเห็นเขาตั้งแต่เป็นเด็กชายน่ารัก เป็นเด็กที่ทำฟันง่าย และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่พี่พยายามตามล่าหาข้อมูลด้านทันตกรรมให้กับทุกคนที่ประสบเหตุในครั้งนี้”

     น.อ.หญิง จิรวัฒน์ กล่าวถึงต้นทุนข้อมูลที่มีอยู่เดิมว่า “ โชคดีที่กำลังพลส่วนใหญ่มีข้อมูลทันตกรรมอยู่แล้ว นักเรียนนายเรือทุกคนมีข้อมูลทำฟันและภาพรังสี ส่วนนักเรียนจ่าทหารเรือมีข้อมูลทันตกรรมแต่ไม่ได้ภาพรังสีทุกเคส ส่วนที่เป็นปัญหาคือ พลทหารประจำกอง อย่างไรก็ดี กองทัพเรือรีบดำเนินการสืบค้นทันทีที่มีการประสานมาตั้งแต่วันที่สองของเหตุการณ์ ทางทีมงานก็ทำงานแข่งกับเวลา ทุกทีมงานย่อยทำงานได้เร็ว ส่งผลสืบค้นภายในสองชั่วโมง ทำให้การสรุปประวัติทางทันตกรรมที่มีข้อมูลในสังกัดกรมแพทย์ทหารเรือเสร็จเร็ว ส่งผลให้ในเคสดำ 6 คนแรกสรุปผลได้เร็วเพราะ มีถึง 5 เคสแรก ที่มีประวัติทำฟันในสถานพยาบาลสังกัดกองทัพเรือ ทำให้นิติเวชสรุปผลได้รวดเร็ว”

     สำหรับบทเรียนที่ได้รับ น.อ.หญิง จิรวัฒน์ ได้เน้นถึงความสำคัญของภาพถ่ายในช่องปาก ภาพถ่ายรังสี ที่ทำเป็นประจำทุกวัน เมื่อทำให้ดี มีประโยชน์มากกว่าที่เราคาดคิด เช่น การพาผู้เสียชีวิตกลับบ้านได้ เป็นตัวอย่างที่ดีของผลงานทันตแพทย์ ทั้งยัง กล่าวชื่นชมความร่วมมือร่วมใจของวิชาชีพทันตกรรมว่า “บุคลากรในงานสายทันตกรรม ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และ ทันตแพทยสภา ทุกหน่วยมีความร่วมมือกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่จะช่วยในการปฏิบัติภารกิจพิเศษนี้ ข้อมูลที่หลั่งไหลเข้าที่ ศูนย์ทันตกรรม กรมแพทย์ทหารเรือ ทำให้ผู้รวบรวม สามารถรีบส่งสรุปไปที่ด่านหน้าได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ส่งร่างคืนญาติได้อย่างรวดเร็ว”


Ground operation ที่บางสะพาน

     ทันตแพทย์หญิงสุชาวดี บุญยะวนิช (ที่ 2 จากขวา) ทันตแพทย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ชันสูตรได้ให้สัมภาษณ์แทนทีมทันตแพทย์และผู้ช่วยจากแผนกทันตกรรม โรงพยาบาลบางสะพาน ว่า “รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เรามีหน้าที่ในส่วนการพาร่างผู้ประสบภัยกลับสู่ครอบครัวด้วยวิชาการทันตกรรม พวกเราทุกคนทำตั้งใจทำหน้าที่ การอยู่ในจุดนั้นมันมีทั้งอารมณ์ ความรู้สึกการเห็นภาพญาติผู้เสียชีวิตที่รออย่างมีความหวัง ทั้งหวังให้ใช่เพื่อรับตัวกลับบ้าน และหวังให้ไม่ใช่ หวังว่าพวกเขาจะมีชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่งทำให้เราต้องดึงสติตัวเองให้มาก ๆ จับยึดหลักวิชาการไว้ เพื่อให้ทุกกระบวนการผ่านไปได้อย่างดี และถูกต้อง สำหรับตนซึ่งเป็นทันตแพทย์สาขาแม็กซิลโลเฟเชียล รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้ฝึกซ้อมรับมือภัยพิบัติหมู่ในช่วงเรียนทันตแพทย์ประจำบ้าน เลยรู้สึกพอจะจัดการได้ และนึกย้อนไปถึงคำของอาจารย์ว่า “ไม่ว่างานที่ได้รับมอบหมายจะเป็นงานอะไร ให้ตั้งใจทำอย่างเต็มความรู้ความสามารถ” และรู้สึกอุ่นใจที่มีทีมที่ดี ทั้งเพื่อน ๆ น้อง ๆ ในทีมทันตกรรม รวมถึงอาจารย์แพทย์ และทีมนิติเวชวิทยา ที่คอยช่วยเหลือให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี หากมองไปข้างหน้า อยากให้วงการทันตกรรมไทย มีระบบเก็บและจัดการข้อมูลทันตกรรมที่ดี เป็นระบบ ไม่กระจัดกระจายมากอย่างตอนนี้ เมื่อมีความจำเป็นได้ดึงมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว คาดหวังให้ทันตแพทยสภาเข้มแข็งพอที่จะประสานงานกับวิชาชีพอื่นๆ หรือองค์กรภาครัฐได้ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนทั้งวิชาการ บุคลากร อุปกรณ์จำเป็น ยกตัวอย่างเช่น มีคู่มือ 101 เรื่องนิติทันตวิทยาสำหรับทันตแพทย์ที่อ้างอิงวิชาการทันสมัย ชัดเจน หรือมี guideline จะเป็นประโยชน์สำหรับคนหน้างาน”

Cyber detective นักสืบข้อมูล



     เมื่อถอยมามองภาพใหญ่เชิงระบบข้อมูล ระบบกฎหมาย และระบบวิชาการแล้วนั้น ทพ.พิศิษฐ์ สมผดุง ผู้อำนวยการ รพ.ขามทะเลสอ และคณะอนุกรรมการฐานข้อมูลกลางทันตแพทยสภา ได้กล่าวถึงการรวบรวมข้อมูลก่อนเสียชีวิตของผู้สูญหายว่า “ปัญหาที่เราพบมาก คือ ข้อมูลกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ไม่เชื่อมโยงกัน แม้เราจะพอทราบว่าที่ไหนน่าจะเป็นแหล่งข้อมูล การเข้าถึงและได้มาก็ไม่ง่ายเลย ในบางกรณีเมื่อพบข้อมูลรักษาทันตกรรม ก็พบว่าบันทึกไว้ไม่ละเอียดพอที่จะช่วยระบุตัวตนผู้เสียชีวิตได้ การรวบรวมข้อมูลจึงต้องใช้กำลังมากเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ ถ้าเทียบกับเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 20 ปีก่อน การบันทึกข้อมูลของวงการทันตกรรมมีพัฒนาการไม่ชัดนัก แต่ข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ได้ในภารกิจเรือหลวงสุโขทัย เป็นผลพลอยได้มาจากการพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ในภาพใหญ่มากกว่า” เมื่อทีมข่าวสัมภาษณ์ถึงการพัฒนาด้านระบบข้อมูลทันตกรรม ทพ.พิศิษฐ์ ให้ข้อมูลว่า “เพื่อให้วิชาชีพพร้อมสำหรับอนาคต มีโอกาสการพัฒนาอยู่ 2-3 ประเด็น เช่น การทำให้มีระบบที่ข้อมูลบันทึกการรักษาทันตกรรมขั้นต่ำที่เชื่อมโยง และค้นหาได้รวดเร็ว ภาคเอกชนซึ่งเป็นคนทำการรักษาส่วนใหญ่ของระบบสุขภาพช่องปากมีการแชร์ข้อมูลเข้าสู่ฐานกลางของประเทศ โดยมีการให้แรงจูงใจเพื่อการบันทึกข้อมูล เช่น การแชร์ข้อมูลการตรวจ การรักษา มีราคาต่อหน่วยการตรวจ หรือ หากมีฟิล์มเอกซเรย์พานอรามิกก็มีค่าส่งข้อมูลให้คลินิก เป็นต้น หรือ หากมองไปในอนาคต กลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตเช่นทหาร ตำรวจ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ชายแดน ควรได้รับการตรวจและถ่ายภาพรังสีพานอรามิกอย่างครบถ้วนก่อนออกปฏิบัติหน้าที่ เรื่องภาพเอกซเรย์นี้ แต่ก่อนทำยากเพราะเครื่องยังไม่แพร่หลาย แต่ปัจจุบันคลินิกใหม่ๆ ล้วนมีเครื่องถ่ายภาพรังสี การเก็บข้อมูลลักษณะนี้โดยเบิกจากกองทุนสุขภาพภาครัฐได้ ก็ดูไม่ไกลเกินไปนัก” ทพ.พิศิษฐ์กล่าว

PDPA กับข้อมูลทันตกรรมผู้สูญหายจากเรือหลวงสุโขทัย



     ด้าน ผศ. ดร.พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และที่ปรึกษากฎหมาย PDPA ของทันตแพทยสภา ผู้ช่วยปลดล็อคข้อกังวลทางด้านกฎหมายในการส่งข้อมูลทันตกรรมก่อนเสียชีวิตว่า “กรณีที่มีการรวบรวมข้อมูลทันตกรรมนั้น ใช้วิธีการโทรหาทีละโรงพยาบาลเพราะกลัวจะผิดที่เผยแพร่ชื่อผู้สูญหาย หรือหน่วยที่มีข้อมูลไม่กล้าส่งเพราะกลัวผิดกฎหมาย PDPA นั้น ผมขอเรียนว่า กฎหมายไม่ได้มีเจตนาในการห้ามไม่ให้เปิดเผยหรือเก็บรวบรวมเลย ตรงกันข้าม โดยส่วนใหญ่แล้ว การเปิดเผย การเก็บรวบรวม หรือการใช้ข้อมูลในบริบทของทันตแพทย์นั้น กฎหมาย PDPA มิได้เป็นอุปสรรคใหญ่ เพียงแต่ให้เราอธิบายได้ว่าเก็บรวมรวบ ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ใด และดูแลให้มีความมั่นคงปลอดภัยตามสมควรหรือไม่ ในกรณีเรือหลวงสุโขทัย มี 2 คำถามที่เราต้องพิจารณา อันดับแรกคือ เพื่อวัตถุประสงค์ใด (มีฐานตามกฎหมายหรือไม่) และ ให้ข้อมูลกับใคร อย่างไร (มั่นคงปลอดภัยเพียงพอหรือไม่) ในเหตุการณ์นี้ จะเห็นว่าเป็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงเป็นประโยชน์สาธารณะด้วย เพราะ ต้องการข้อมูลเพื่อระบุยืนยันตัวตนผู้สูญหาย ในที่นี้ทางฝั่งของคลินิกหรือหน่วยให้บริการทางทันตกรรมนั้นมีหน้าที่ในการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว ทั้งยังสามารถช่วงปกป้องสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยเบื้องต้นได้ โดยตรวจสอบว่า ผู้ขอข้อมูลเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่? ต้องการข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ใด? โดยเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หากในอนาคตมีเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลระหว่างองค์กรเพื่อความปลอดภัย (และมั่นใจ) ของทุกฝ่าย ทางเจ้าหน้าที่อาจทำหนังสือจากหน่วยงานให้ชัดเจนและดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ควบคุมข้อมูลที่ใกล้ชิดกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อความมั่นคงปลอดภัย เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานขอรายชื่อคลินิกหรือหน่วยบริการที่เกี่ยวข้องจากทันตแพทยสภา เพื่อให้สภาสามารถส่งรายชื่อคลินิกหรือหน่วยบริการ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อไปที่คลินิกหรือหน่วยบริการโดยตรง หรืออีกทางหนึ่ง คือ สภา สามารถทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นทางการ จะสามารถช่วยให้คลินิกเอกชน หรือหน่วยบริการทางทันตกรรมมีความมั่นใจมากขึ้นว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยนั้นจะถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และอยู่ในการดำเนินการของรัฐจริง”

นิติทันตวิทยา งานที่ต้องพัฒนารับวิกฤต



     ในภาพเชิงระบบของการทำงานด้านนิติทันตวิทยา ผศ.ดร.ทพญ.พิสชา พิทยพัฒน์ ได้สะท้อนถึงการดำเนินการ กรณีเรือหลวงสุโขทัยและโอกาสพัฒนาของวงการทันตกรรมว่า “ในส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านนิติทันตวิทยา ได้รับการประสานจากท่านนายกทันตแพทยสภาให้ช่วยให้คำปรึกษากับน้องทันตแพทย์หน้างานในการเปรียบเทียบข้อมูลก่อนและหลังเสียชีวิต ในภาพรวมประเทศนั้น ทันตแพทย์เฉพาะทางสาขานิติทันตวิทยามีเพียง 24 คนเท่านั้น การกระจายผู้เชี่ยวชาญสาขานี้ในภาพรวมประเทศจึงยังไกลจากคำว่าเพียงพอ และมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ถูกผนวกเข้าไว้ในโครงสร้างการทำงานของกระบวนการยุติธรรม ฉะนั้นแล้ว การมีผู้เชี่ยวชาญสาขานี้มากขึ้น มีการกระจายที่ดี สามารถปฏิบัติงานได้จริงสอดคล้องมาตรฐานวิชาการ และมีเคสที่นำกลับมาสู่กระบวนการศึกษาได้ จึงเป็นภาพใหญ่ ที่ระบบกำลังต้องการ ในอนาคต จะมีการนำเรื่องสมรรถนะนี้กลับมาคุยกันในวงการศึกษาว่าเราจะทำให้ทันตแพทย์ทั่วไป ได้รับการ Upskill ส่วนนิสิตนักศึกษาได้รับการสอนเรื่อง Forensic Dentistry ได้อย่างไร และผู้เชี่ยวชาญในสาขาจะเป็นหลังพิงด้านวิชาการให้กับทันตแพทย์ผู้ปฏิบัติงานได้อย่างไร” โดยสรุป ทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมล้วนชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของงานประจำ “การตรวจและบันทึก” ที่มีค่าอย่างประเมินไม่ได้ เมื่อคนที่จากไปเป็นคนที่รักของใครสักคน..และพลังในการพาพวกเขากลับบ้านอยู่ในงานประจำของพวกเราเอง เหตุการณ์นี้ ทำให้ทีมงานประชาสัมพันธ์นึกถึงท่อนหนึ่งของเพลงดอกประดู่ บทเพลงแห่งกองทัพเรือไทย ที่มีอยู่ว่า..“..พวกเราจงดู รู้เจ็บแล้วต้องจำ..” เราจึงไม่อยากให้ทหารกล้าจากไปโดยสังคมไทยไม่ได้เตรียมพร้อมให้ดีขึ้น บทความนี้จึงเป็นหมุดประวัติศาสตร์ที่ฝังลงในวิชาชีพของเรา เป็นบทเรียนที่เตือนใจว่าวิชาชีพเราต้องรับมือกับปัญหาเดิมได้ดียิ่งขึ้น ในอนาคตทันตแพทยสภา จะนำบทเรียนและข้อเสนอเชิงนโยบายจากเหตุการณ์นี้ ไปร่วมกับภาคีเครือข่ายในผลักดันเชิงโครงสร้าง การสร้างกำลังคนทำงาน และระบบงานที่เอื้อให้ทันตแพทย์เราทำงานด้านนิติทันตวิทยาได้ดียิ่งขึ้น และส่งเสริมบทบาทของวิชาชีพทันตกรรมต่อผู้คนและสังคมต่อไป


สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย

ดร.ทพญ.ปิยดา แก้วเขียว

ทพญ.ปภาวรินท์ ตีระจินดา

พ.ต.ธนศักดิ์ ถัมภ์บรรฑุ

ทีมประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ทันตแพทยสภา


หัวข้ออื่น ๆ :