ระบบข้อมูลที่สนับสนุนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ อีกหนึ่งตัวอย่าง ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอด Digital Health System ทางทันตกรรม
ระบบข้อมูลที่สนับสนุนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ อีกหนึ่งตัวอย่าง ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอด Digital Health System ทางทันตกรรม
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 ทันตแพทยสภา โดยคณะอนุกรรมการพัฒนา Digital health system ของทันตแพทยสภาวาระที่ 10 ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลการศึกษาโครงการพัฒนาระบบข้อมูลที่สนับสนุนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ และร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น
โครงการวิจัยดังกล่าว จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุดข้อมูลที่ใช้สำหรับกระตุ้นเตือนให้ผู้สูงอายุรับทราบถึงความเสี่ยงต่อการมีโรคและความผิดปกติในช่องปากของตนเองอันเนื่องมาจากการใช้ยาหรือโรคประจำตัว เพื่อให้สามารถตัดสินใจเข้ารับคำปรึกษากับทันตบุคลากร และเข้าสู่กระบวนการดูแลสุขภาพช่องปากได้อย่างทันท่วงที และด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการที่ทันตแพทย์จะได้รับข้อมูลที่จำเป็นในการวางแผนการรักษาได้ครบถ้วน ทันเวลา เพื่อช่วยเพิ่มทั้งคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของการดูแลสุขภาพช่องปาก
เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นกลุ่มวัยที่มีผลกระทบจากความเสื่อมถอยของร่างกาย ภาวะโรคทางระบบ รวมถึงการใช้ยา อันเป็นปัจจัยเสริมต่อการเกิดและลุกลามของโรคในช่องปากได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งความซับซ้อนทางสุขภาพกายเหล่านี้ก็ส่งผลให้การดูแลสุขภาพช่องปากมีข้อต้องพึงระวังมากขึ้น
แต่ปัญหานี้สามารถป้องกันได้ หากสามารถตรวจพบและเข้าสู่กระบวนการดูแลสุขภาพช่องปากที่เหมาะสมและทันเวลา สอดคล้องตามหลักการของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เป็นการบริการในลักษณะองค์รวม ตั้งแต่แรก ต่อเนื่อง ผสมผสาน ซึ่งต้องอาศัยการทำงานที่เชื่อมโยงกับครอบครัว ชุมชนและบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ
การพัฒนาระบบข้อมูลด้านสุขภาพของผู้รับบริการ รวมถึงการเชื่อมโยงเพื่อใช้ข้อมูลนั้น เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เชื่อมโยงสุขภาพช่องปากเข้ากับสุขภาพกายอย่างเป็นองค์รวม
นอกจากโครงการนี้แล้ว ทางอนุกรรมการพัฒนา Digital health system ของทันตแพทยสภาวาระที่ 10 ได้มีการจับมือกับโครงการ Health Link ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพระดับประเทศ ดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกระทรวงสาธารณสุข ขั้นตอนต่อไปคือการจัดการให้ทันตแพทย์สามารถเข้าใช้งานในแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ และจะมีการพัฒนามาตรฐานข้อมูลที่จำเป็นในการให้บริการทันตกรรมและการบริการทันตกรรมทางไกลต่อไป
หมายเหตุ
โครงการพัฒนาระบบข้อมูลที่สนับสนุนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ
ดำเนินการโดยสำนักวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ
คณะผู้วิจัยประกอบด้วย 1. ทพญ.วรารัตน์ ใจชื่น 2. ทพ.พูลพฤกษ์ โสภารัตน์ และ 3. ทพญ.ศรุตา แสงทิพย์บวร
โดยมีที่ปรึกษา 2 ท่าน คือ อ.ทพญ.ดร. มัทนา เกษตระทัต และ ผศ.ทพ. ดร.สุธี สุขสุเดช จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
25 พฤษภาคม 2565
#TDC10