บทความเกี่ยวกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม ฉบับใหม่
สภาเตรียมขอความเห็นสมาชิก เสนอร่างพ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม ฉบับใหม่
นับตั้งแต่มีการร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 ขณะนี้ย่างเข้าปีที่ 30 แล้ว สถานการณ์ทางเทคโนโลยีด้านทันตกรรม องค์ความรู้ด้านการจัดการวิชาชีพ (Professional Administration) ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพลวัติของสังคมได้เปลี่ยนไปอย่างมากในเวลาที่ผ่านมา ส่งผลตัวกฎหมายที่เป็นเสาหลักของวิชาชีพจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเพื่อให้ดูแลวิชาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ
ในเวลาเดียวกัน ผลการสำรวจความคิดเห็นสมาชิกที่ทันตแพทยสภาได้ดำเนินการมา 2-3 ครั้ง (การสำรวจความเห็นก่อนกำหนดนโยบายทันตแพทยสภา วาระที่ 10, การสำรวจความเห็นเรื่องการโฆษณา ตลอดจนการสำรวจความพึงพอใจครึ่งวาระ) ได้มีเสียงสะท้อนถึงความล้าสมัยไม่ทันต่อเทคโนโลยี การกำกับควบคุมโดยขาดการสนับสนุนที่ดี รวมความเป็นธรรมของกฎหมาย อยู่เนืองๆ
เมื่อเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา “หน้าต่างแห่งโอกาส” ได้เปิดขึ้น เมื่อฝ่ายบริหาร (การเมือง) หารือให้ทันตแพทยสภายกร่าง พรบ.วิชาชีพ ฉบับใหม่ขึ้น ให้มีความสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนไป คำนึงถึงนโยบายประเทศ และเน้นบทบาทด้านการสนับสนุนวิชาชีพมากยิ่งขึ้น โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2567 แม้ทันตแพทยสภาเข้าใจถึงความไม่แน่นอนของโอกาสที่หาได้ยากเช่นนี้ แต่ยังคงจุดยืนด้านการมีส่วนร่วมของสมาชิกและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการออกแบบกฎหมายอย่างรอบคอบ
ดังนั้น ทันตแพทยสภา จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านทั้งจากกลุ่มสมาชิก นักวิชาการ และภาคประชาสังคม บนหลักการเรื่องความโปร่งใส ตรงไปตรงมาของข้อมูล เหตุผลประกอบหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อให้ได้กฎหมายที่ทันสมัย เป็นธรรม รองรับการทำหน้าที่ของวิชาชีพทันตกรรมสำหรับสังคมไทย โดยจะมีการเปิดรับฟังทั้งในรูปแบบอภิปรายและ การแสดงความเห็นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ การแถลงผลการรวบรวมความคิดเห็นให้สมาชิกทราบเป็นระยะ เมื่อได้ข้อตกลง เหตุผลอย่างรอบด้าน จึงจะมีเผยแพร่ร่างที่จะเสนอเข้าสภานิติบัญญัติให้สมาชิกได้ทราบทั่วกันอีกครั้ง
อนึ่ง การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและออกแบบร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งหมายถึง อาจได้รับการแปรญัตติ เปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยสภานิติบัญญัติได้ในอนาคต การปรับเปลี่ยนระบบครั้งนี้ จึงเป็นภารกิจที่ไม่แน่นอนและท้าทาย แต่สิ่งที่วางใจได้คือ เราจะมีโอกาสทำงานร่วมกันในการพัฒนาการกำกับดูแลวิชาชีพทันตกรรมเพื่อประโยชน์ของทั้งประชาชน วิชาชีพ และสังคมไทยในภาพรวม
พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม ทันตแพทยสภามีทำไม มีเพื่อใคร?
ก่อนที่จะไปถึงข้อเสนอการแก้ไขกฎหมาย ทีม PR ชวนมาทำความรู้จักกับ กฎหมาย พรบ.วิชาชีพทันตกรรม ที่เป็นเหมือนกับ “ร่มใหญ่” ให้ความคุ้มครองทันตแพทย์ในการประกอบวิชาชีพดูแลโรคในช่องปากประชาชน ในขณะเดียวกัน ก็ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนด้วย ภายใต้การกำกับดูแลตนเอง (Self-regulation) ของหน่วยงานที่ชื่อว่า “ทันตแพทยสภา” การรักษาสมดุล สร้างความเป็นธรรมในการรับบริการทันตกรรมนี้ จะช่วยให้วิชาชีพทันตกรรม กับสังคมไทยพึ่งพาอาศัยกันไปได้อย่างยั่งยืน เป็นการสร้างอำนาจที่สมดุล สร้างสุขภาพ ความปลอดภัยให้ประชาชน และการอยู่ได้ของธุรกิจทันตกรรมไปพร้อม ๆ กัน
สนใจอ่านเรื่อง Self-regulation: https://www.nature.com/articles/sj.bdj.2016.771