ทันตแพทยสภาเสนอ 3 ทางเลือกสิทธิทำฟันประกันสังคมกับกระทรวงแรงงาน
ทันตแพทยสภา เสนอ 3 ทางเลือกให้ประกันสังคม ทำฟัน รพ.รัฐไม่จำกัดวงเงิน
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เข้าร่วมประชุมกับ รศ.ดร.ทพ.ไชยรัตน์ เฉลิมรัตนโรจน์ นายกทันตแพทยสภา ในประเด็นสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนด้านการรักษาทันตกรรม โดยหารือร่วมกันราว 2 ชั่วโมง
ต่อมา รศ.ดร.ทพ.ไชยรัตน์ เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้เป็นครั้งแรกที่ทันตแพทยสภา ได้เข้าหารือกับท่าน รมต.แรงงาน และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งทางทันตแพทยสภาอยากเข้ามาช่วยการจัดระบบบริการ และสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนด้านทันตกรรม นอกจากนั้น ยังได้มีการหารือเรื่องนิยามคำว่า "โรคในช่องปาก" ที่จะต้องมีการรักษาและอยู่ในสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในระหว่างการหารือร่วมกัน
รศ.ดร.ทพ.ไชยรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นหลักที่พบว่ามีปัญหาคือ เมื่อเปรียบเทียบผู้ประกันตนตามกลุ่มระดับเศรษฐานะ กลับพบความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการทันตกรรมอย่างเห็นได้ชัดเจน ยิ่งจนยิ่งเข้าถึงบริการน้อย แม้ในช่วงปี 2560 สปส.จะมีการปรับเพิ่มเพดานการเบิกค่าทำฟันขึ้นมาเป็นไม่เกิน 900 บาท/ปี แต่ผลลัพธ์ของนโยบายต่อการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการพบเพียงในช่วงปีแรก และเมื่อเวลาผ่านไป ความเหลื่อมล้ำนี้ก็กลับมาเป็นเช่นเดิม
ทั้งนี้ ทันตแพทยสภา ได้เสนอ 3 แนวทางให้ รมต.แรงงานพิจารณาเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรม โดยมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกันตนที่มีระดับเศรษฐานะต่างกัน ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 มุ่งลดความเหลื่อมล้ำสำหรับกลุ่มผู้ประกันตนที่มีระดับเศรษฐานะไม่ดีนัก ด้วยการเปิดโอกาสให้รับบริการในภาครัฐได้ไม่จำกัดวงเงิน โดยปรับใช้แนวคิดของสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ดังนี้คือ ผู้ประกันตนยังคงไปใช้สิทธิทันตกรรมในสถานพยาบาลเอกชนภายใต้วงเงินไม่เกิน 900 บาท/ปี และสิทธิฟันเทียมถอดได้บางส่วนเช่นเดิม และเสนอให้เพิ่มสิทธิให้ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยมีโรคในช่องปากมาก ให้ไปรับบริการในสถานพยาบาลของรัฐได้ตามโรคที่เป็นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้สถานบริการของรัฐจะเบิกค่าใช้จ่ายจากประกันสังคมตามอัตราที่กำหนดไว้คล้ายกับสิทธิข้าราชการ
ทางเลือกที่ 2 มุ่งเพิ่มการเข้าถึงสำหรับผู้ประกันตนทุกกลุ่ม ด้วยการอำนวยความสะดวกให้ใช้บริการในสถานพยาบาลเอกชนได้ โดยปรับใช้แนวคิดเดียวกับคลินิกนวัตกรรม 30 บาทรักษาทุกที่ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยผู้ประกันตนสามารถรับบริการ อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินน้ำลาย และทำฟันเทียมถอดได้บางส่วนที่สถานพยาบาลเอกชนได้
ทางเลือกที่ 3 มุ่งสร้างสมดุลของระบบประกันสุขภาพกับตลาดบริการทันตกรรมในระยะยาว โดยใช้แนวคิดเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่นและยุโรป ที่กำหนดราคากลางในการรักษาและให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายโดยกำหนดราคากลางของอัตราค่าบริการทันตกรรมพื้นฐาน ในคลินิกที่เข้าร่วมให้บริการ และกำหนดอัตราที่ร่วมจ่ายของอัตราค่าบริการที่เป็นราคากลาง โดยผู้ประกันตนได้รับบริการตามโรคในช่องปากที่จำเป็นโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
ทั้งนี้ทันตแพทยสภาจะเข้าร่วมทำงานกับสำนักงานประกันสังคมในการพัฒนาสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมให้เหมาะสมกับผู้ประกันตนต่อไป