กรมการค้าภายใน เตือนทันตแพทย์คิดค่าน้ำยาบ้วนปากเกินจริง
กรมการค้าภายใน เตือนทันตแพทย์คิดค่าน้ำยาบ้วนปากเกินจริง
เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำหนังสือแจ้งมายังทันตแพทยสภา เพื่อขอให้แจ้งทันตแพทย์เรื่องข้อกังวลเกี่ยวกับการกำหนดค่าบริการทันตกรรม มูลเหตุของเอกสารดังกล่าวได้ระบุถึงการร้องเรียนของผู้ป่วยว่าไปรักษาทางทันตกรรมที่คลินิกเอกชนแล้วมีการคิดราคาค่าน้ำยาบ้วนปากก่อนทำหัตถการ (pre-procedural rinsing) ในราคาสูงเกินกว่าความเป็นจริง ไม่สอดคล้องกับคุณภาพและต้นทุนที่แท้จริง โดยส่งหลักฐานใบเสร็จคลินิก ที่ระบุราคาน้ำยาบ้วนปากก่อนทำหัตถการ 60 บาท ต่อครั้ง
ประเด็นดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อวิชาชีพทันตกรรมที่ทันตแพทยสภาจำเป็นต้องนำข้อมูลมาแจ้งแก่สมาชิกเพื่อลดโอกาสถูกร้องเรียนในอนาคตและมิให้วิชาชีพถูกสังคมภายนอกมองว่าแสวงหากำไรเกินควร โดยทันตแพทยสภาขอให้ท่านกำหนดค่าบริการในส่วนน้ำยาบ้วนปากอย่างเหมาะสม มีการแสดงราคาน้ำยาบ้วนปากอย่างเปิดเผยและแจ้งให้ผู้ป่วยทราบด้วย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในมิติกฎหมาย แม้ข้อบังคับทันตแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2538 จะระบุให้แจ้งราคาเมื่อได้รับการร้องขอเท่านั้น “ผู้ประกอบวิชาชีพ….ต้องแจ้งค่าบริการให้ผู้ป่วยทราบเป็นรายการว่าแต่ละรายการเป็นจำนวนเงินเท่าใด รวมทั้งสิ้นเท่าใด เมื่อได้รับการร้องขอ” (ข้อ 20) อย่างไรก็ดี ยังมีข้อ 8 ที่ระบุให้ทันตแพทย์ประกอบวิชาชีพโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความสิ้นเปลืองของผู้ป่วย ประกอบอยู่ด้วย ฉะนั้นแล้ว การกำหนดราคาที่เหมาะสม การให้ข้อมูลที่เปิดเผย และเพียงพอแก่ผู้ป่วยจึงเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับจรรยาบรรณ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นในวิชาชีพและปกป้องทันตแพทย์จากการร้องเรียนได้
นอกจากกฎหมายวิชาชีพแล้ว ยังมีข้อกฎหมายภายนอกวิชาชีพ อีก 2 รายการที่การคิดราคาน้ำยาบ้วนปากสูงเกินจริง อาจเข้าข่ายมีความผิดมีโทษปรับหรือจำคุกได้ วันนี้ เราไปทำความรู้จักสาระโดยย่อของกฎหมาย 2 รายการนี้กัน
1. ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 69 พ.ศ. 2565 เรื่อง การแสดงราคาสินค้าและค่าบริการ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
ประกาศฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเปรียบเทียบราคาหรือค่าบริการก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการไปใช้ และ “น้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน” เป็นหนึ่งในสินค้าที่อยู่ท้ายบัญชีของประกาศฉบับนี้ด้วย การที่คลินิกทันตกรรมคิดค่าน้ำยาบ้วนปากจึงต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับประกาศฉบับนี้ด้วย หากผู้ให้บริการฝ่าฝืนไม่แสดงค่าบริการดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท (มาตรา 28 ประกอบมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2552)
2. พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
พระราชบัญญัตินี้มุ่งป้องกันการผูกขาดทางการค้าและกำหนดราคาสินค้าและบริการจำเป็นให้อยู่เกณฑ์เหมาะสมแก่การเข้าถึงของประชาชนได้ การขายน้ำยาบ้วนปากที่ใช้แบบแบ่งส่วนเฉพาะครั้งในราคาไม่ได้สัดส่วนกับการซื้อแบบเป็นขวด อาจเข้าข่ายเรื่องจงใจที่จะทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด ซึ่งมีโทษสูงสุดเป็นการจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 29 ประกอบมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542)
โดยสรุปแล้ว ทันตแพทยสภามีคำแนะนำให้สมาชิกกำหนดราคาน้ำยาบ้วนปากแบบบ้วนก่อนทำหัตถการ (pre-procedural rinsing) ให้สะท้อนต้นทุนที่เหมาะสม มีการกำหนดราคาที่ชัดเจนและเปิดเผย และมีการแจ้งให้ผู้ป่วยทราบอย่างเหมาะสม เพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างผู้ป่วยและทันตแพทย์ และสวัสดิภาพการประกอบวิชาชีพของพี่น้องทันตแพทย์ไทยทุกคน ด้วยความห่วงใยและพร้อมอยู่เคียงข้างจากทันตแพทยสภา
เรียบเรียงโดย พ.ต.ธนศักดิ์ ถัมภ์บรรฑุ